ชาวโซเชียลแห่ให้กำลังใจ ทีมอาสา พัฒนาแอปฯ "หมอชนะ" มีข่าวถอนทีม พร้อมมอบให้ภาครัฐดูแล 100% แชตว่อน อ้างถูกล้วงลูก
วันที่ 17 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก "หมอแล็บแพนด้า" ได้โพสต์ข้อความตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น อะไรที่เป็นสาเหตุให้ทีมพัฒนาแอปหมอชนะลาออกยกทีม และมอบให้ภาครัฐ ดูแล 100%
โดยระบุว่า "เกิดอะไรขึ้นน้อออ อะไรที่เป็นสาเหตุให้ทีมพัฒนาแอปหมอชนะลาออกยกทีม ตอนนี้มอบให้ภาครัฐดูแล 100% ละครับ พอได้อ่านโพสต์นี้โดยละเอียดแล้ว รู้สึกได้เลยว่ามีหลายคำที่มีนัยแปลกๆ คงต้องรอ ศบค. ออกมาแถลงแล้วล่ะครับ"
นอกจากนี้ หมอแล็บ ยังได้แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊ก ทีมงานอาสาหมอชนะ ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก "ทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team" โดยระบุว่า การเติบโตและความสำเร็จของ “หมอชนะ” เปลี่ยนผ่านจากแอปอาสาสมัคร เป็นแอปของภาครัฐเต็มตัว
ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความภูมิใจที่จะส่งมอบ แอปพลิเคชัน หมอชนะ อันเกิดจากการริเริ่มบูรณาการของภาคประชาชนสู่ภาครัฐ ที่มีความครบสมบูรณ์ในแนวทางการออกแบบและกระบวนการในการใช้งานทุกอย่าง เพื่อให้ภาครัฐได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการควบคุมการระบาดอย่างมีประสิทธิผล
จากการระบาดของโควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามาอย่างฉับพลัน การรวมตัวของจิตอาสาหลายสิบกลุ่มจึงก่อกำเนิดขึ้น แทนที่จะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพัฒนา ในวาระวิกฤติแห่งชาตินี้ พวกเราได้หันหน้ามาจับมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นำเอาจุดเด่นแต่ละไอเดีย มาบูรณาการร่วมมือกันภายใต้ทีม Code for Public โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาคเอกชนในนามกลุ่มช่วยกัน
ภาครัฐคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และจิตอาสาอิสระจำนวนมากมายรวมกว่าร้อยคนที่ทำงานมาร่วมกัน โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ช่วยเข้ามารับดูแลแอปหมอชนะอย่างเป็นทางการ
กว่า 9 เดือนที่ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะได้ร่วมกันออกแบบ หมอชนะ ของประชาชนโดยคำนึงถึงเป้าประสงค์หลักในการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นออกแบบเพื่อการใช้งานได้จริง และ คำนึงความเป็นส่วนตัว (data privacy) เป็นหลักการในการพัฒนามาตั้งแต่ต้น
เมื่อรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการติดตามประวัติการเดินทาง และตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงในการติดตามผู้มีโอกาสสัมผัสได้รับเชื้อ หันมายอมรับและเลือกใช้ แอป หมอชนะ เพื่อใช้ต่อสู้กับการระบาดอย่างรุนแรงของโควิดในรอบนี้
พวกเราหวังว่า การที่แอปได้เปลี่ยนผ่านไปอยู่ในการดูแลของภาครัฐอย่างเต็มตัว น่าจะทำให้ประสิทธิภาพการติดตามประวัติการเดินทางจากเดิมเป็นข้อมูลที่อาสาสมัครต้องค้นหาเอง เป็นการที่ภาครัฐ และกรมควบคุมโรค จะเป็นผู้นำข้อมูลต้นทางที่แม่นยำครบถ้วน เข้าสู่ระบบ เพื่อให้ระบบที่ถูกพัฒนามาพร้อมอยู่แล้ว ได้รับการนำมาใช้ในการตรวจสอบประวัติการเดินทางและค้นหาผู้มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อ เพื่อให้เกิดการแจ้งเตือนกับผู้ถือแอป รับรู้ถึงระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เพื่อให้กระบวนการควบคุมการระบาดเกิดความสมบูรณ์ครบวงจร
จากนี้ไป เรามีความมั่นใจว่า การที่แอป หมอชนะ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ จะทำให้เกิดความชัดเจนในการให้ข้อมูลและการสื่อสารที่ทรงพลังของรัฐ อย่างเป็นทางการเพียงเสียงเดียว จะสามารถตอบคำถามความสงสัย ลดความสับสน เป็นไปด้วยความถูกต้อง คำนึงถึง privacy ของประชาชนอย่างมีธรรมภิบาลและทำให้ทุกคนในประเทศมีความสบายใจและมั่นใจที่จะร่วมกัน ให้ความร่วมมือใช้งานแอป หมอชนะ ในการต่อสู้วิกฤตินี้ด้วยกัน อย่างพร้อมเพรียง
ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ ยังคงพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลต่อไป และยินดีช่วยเหลือรัฐบาลอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อดูแลให้คนไทยผู้ใช้แอปได้ปลอดภัยจากโรค และได้ประโยชน์สูงสุดเป็นที่ตั้งตามเจตนารมณ์
Facebook ของหมอชนะ และช่องทางการสื่อสารต่างๆ ก็จะได้รับการดูแลและตอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ.
...
ซึ่งโพสต์ดังกล่าว ที่ถูกแชร์ออกไป ก็มีชาวโซเชียลเข้ามาให้กำลังใจทีมงานอาสา "หมอชนะ" กันอย่างมากมาย
ขณะที่ในโลกทวิตเตอร์ มีการรีทวีตข้อความจาก ทวิตเตอร์ @PhilPrajya ของนายปรัชญา อรเอก ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ที่โพสต์ข้อความอ้างว่า "ทีมงานเอกชนพัฒนาแอปหมอชนะ ออกมาแฉเรื่องถูกผู้ใหญ่ล้วงลูกหนักเลย" พร้อมเปิดเผยข้อความสนทนาจากแชตไลน์ ของกลุ่ม Code for Public ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ระบุขอวางมือ เนื่องจากสาเหตุ 2 ประการ
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า, ทีมงานอาสาหมอชนะ , ทวิตเตอร์ @PhilPrajya