ความสุขของครอบครัวเกิดขึ้นได้ในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะชุมชน ไปจนถึงพื้นที่สำคัญอีกแห่งนั่นคือ พื้นที่การทำงาน หากสถานที่ทำงานสามารถเป็น “บ้านหลังที่ 2” ที่สร้างความสุขให้แก่พนักงานได้ คนในองค์กรเหล่านั้นก็จะสร้างความสุขไปที่ครอบครัวได้เช่นกัน
สสส.ในฐานะหน่วยงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยการทำหน้าที่ริเริ่มจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ด้วยนวัตกรรมสร้างสุขภาพ สานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งเสริมการสร้าง “องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข” ขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบให้กับทุกองค์กรในสังคมไทยได้เห็นว่า การสร้างความสุขในที่ทำงานสามารถสะท้อนความสุขไปที่ครอบครัวได้แน่นอน
ครอบครัวมีสุขในศตวรรษที่ 21 กับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องรับมือ
หากพิจารณาอย่างถ่องแท้จะเห็นว่า ความสุขในครอบครัวเกิดได้จากบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากชุมชน และสังคมการทำงาน หรือสถานที่ทำงาน ที่ส่งผลอย่างมากต่อชีวิต ด้วยเหตุนี้การสร้างเสริมความสุขของสถาบันครอบครัวในอีกมิติสำหรับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงเป็นการเข้าไปสนับสนุนการสร้างความสุขของชุมชนในมิติต่างๆ ผ่านการเสริมสร้างสุขภาพและสุขภาวะ ในขณะเดียวกันกับที่เข้าไปมีบทบาทมากขึ้นต่อสุขภาวะขององค์กร “บ้านหลังที่ 2” ของใครหลายๆ คน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ครอบครัวมีสุขในทศวรรษต่อไป” ในงานนิทรรศการ “องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข” ประจำปี 2563 (Happy Family Awards 2020) ว่า สสส.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมความสุขในครอบครัวในมิติต่างๆ โดยที่ผ่านมาได้ทำงานภายใต้โครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดี ลดความขัดแย้งในครอบครัว โดยเฉพาะในวันที่รูปแบบของคำว่าครอบครัวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในหลายมิติ พร้อมกับความต่างทางความคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนหลากหลายเจนเนอเรชั่นในครอบครัวเดียวกัน พร้อมกันนี้ สสส. ยังเข้าไปสนับสนุนการสร้างเสริมความอบอุ่นและเข้มแข็งในครอบครัว โดยมุ่งไปทั้งสถานที่ทำงาน (Workplace) และในชุมชน (Community) เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นผลสะท้อนต่อกันและกันอย่างชัดเจน”
“นอกจากการเข้าไปส่งเสริมการสร้างความสุขในครอบครัว ผ่านมุมทางด้านชุมชน (Community) แล้ว สิ่งหนึ่งที่ สสส. เข้าไปร่วมกับภาคีเครือข่าย คือการมุ่งหวังจะเสริมสร้างครอบครัวมีสุขผ่านทางสถานที่ทำงาน (Workplace) อย่างที่เราทราบกันดีว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีมาจากสังคมสิ่งแวดล้อม โดยที่สังคมสิ่งแวดล้อมใหญ่ที่สัมพันธ์กับเราทุกคนคือ สังคมสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน ถ้าหากที่ทำงานดี หรือส่งเสริมการมีชีวิตที่มีความสุขได้ ความสุขเหล่านั้นก็จะส่งผลสะท้อนไปถึงที่บ้านหรือครอบครัวด้วย ดังนั้นการร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งเสริมการสร้าง “องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข” ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างครอบครัวเข้มแข็ง ซึ่ง สสส.เองก็ยังมุ่งมั่นที่จะดูแลสถาบันครอบครัวให้กลายเป็นครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็งด้วยนวัตกรรมที่ยั่งยืนต่อไปอย่างต่อเนื่อง”
รางวัลเพื่อคนต้นแบบ Happy Family Awards 2020
กว่า 2 ปีที่ผ่านมาที่ทำงานร่วมกันระหว่าง สสส. กับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขยายแนวคิดเรื่องการสร้างองค์กรมีสุขสู่องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุขอย่างเป็นรูปธรรมจึงเกิดผลลัพธ์มากกว่าแค่ทฤษฎี หากแต่หลายองค์กรและบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ก็ได้พบการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายมากขึ้นต่อองค์กรในหลากหลายแง่มุม จนมาสู่การมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณ “องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข” ประจำปี 2563 (Happy Family Awards 2020) ทั้งนี้เพื่อขยายผลและต่อยอดแนวคิดไปยังองค์กรอื่น รวมถึงภาคส่วนอื่นในสังคมด้วย
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า การสนับสนุนสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในการทำงานผ่านโครงการการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร ระหว่างปี 2561-2564 เกิดขึ้นพร้อมภารกิจหลักในการสนับสนุนองค์กรภาคี 122 องค์กรทั่วประเทศให้สามารถสร้างเสริมครอบครัวมีสุขคนทำงานองค์กรอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิด “ครอบครัวมีสุข” ภายใต้ 4 องค์ประกอบได้แก่ 1. ความอบอุ่น ความผูกพันเข้าใจ พร้อมปรับตัว 2. ความสงบสุข ไร้ความรุนแรง 3. ความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ และ 4.ความพอเพียง พอประมาณ โดยได้สร้างฝึกอบรมนักสร้างเสริมครอบครัวมีสุขในองค์กร ให้มีศักยภาพในการเขียนแผนปฏิบัติการที่นำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อสร้าง “ครอบครัวสุขภาวะ” ให้เกิดเป็นต้นแบบ และขยายฐานอย่างต่อเนื่อง”
โดยในครั้งนี้ได้มีการมอบโล่รางวัล ให้กับ 25 องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข พร้อมประกาศผล “องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข” ประจำปี 2563 ใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ “ดี” “ดีมาก” และ “ดีเด่น” โดยรางวัล “องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข” ประจำปี 2563 ในระดับ “ดีเด่น” ได้แก่ บริษัทคิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ระดับ “ดีมาก” ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลิ่มเชียงเส็ง ระดับ “ดี” ได้แก่ บริษัทสมชายการยางเซอร์วิส จำกัด 1977 พร้อมมอบรางวัล Popular YouTube Vote และรางวัล Popular Conference Vote (จากผู้บริหาร แขกผู้มีเกียรติทุกท่านในงาน) ซึ่งตกเป็นของ บริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด ทั้งสองรางวัล
ภายในงานยังมีบูธนิทรรศการของ 25 องค์กรครอบครัวมีสุขต้นแบบ พร้อมนำผลิตภัณฑ์และผลผลิตจากองค์กรจัดแสดงและจำหน่าย ครั้งนี้ผู้บริหารหรือตัวแทนของทั้ง 25 องค์กรครอบครัวมีสุขต้นแบบยังได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวที ถึงการผลักดันให้เกิดกิจกรรมสร้างเสริมครอบครัวมีสุขคนทำงานองค์กรจนประสบความสำเร็จ ซึ่งทุกโครงการเป็นแนวคิดที่ต่อยอดไปสู่การลงมือทำจนเกิดผลลัพธ์ที่งดงามต่อองค์กร เชื่อแน่ว่าจากความสำเร็จขององค์กรต้นแบบในครั้งนี้จะทำให้เกิดองค์กรมีสุขเพื่อครอบครัวมีสุขอีกมากมายในประเทศไทยเช่นกัน