โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดหนึ่งในนโยบายสำคัญตามแผนบูรณาการการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ที่รัฐบาล “ประยุทธ์ 1” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวขบวนรัฐนาวา ได้ขับเคลื่อนเพื่อเป็นสวัสดิการและหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานให้เด็กแรกเกิด เป็นมาตรการให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองนำเด็กเข้าสู่ระบบบริการของรัฐ และส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย
แรกเริ่มโครงการเน้นช่วยเหลือเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจน โดยมีไทม์ไลน์มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประเดิม วันที่31 มี.ค.2558 จัดสรรให้เด็กแรกเกิด 0-1 ปี 400 บาท/คน/เดือน รายได้ครัวเรือนไม่เกิน 36,000 บาท/คน/ปี เริ่มปีงบประมาณ 2559 จากนั้นวันที่ 22 มี.ค.2559 ขยายระยะเวลาจัดสรรจาก 1 ปี เป็น 3 ปี และเพิ่มวงเงินเป็น 600 บาท/คน/เดือน ต่อด้วยวันที่ 7 พ.ย.2560 ยกเลิกเงื่อนไขผู้อยู่ในระบบประกันสังคมและเชื่อมโยงผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ลดปัญหาการตกหล่น และวันที่ 26 มี.ค.2562 ขยายระยะเวลาจัดสรรเป็น 6 ปี และขยายรายได้กลุ่มเป้าหมายเป็นไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี
...
ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจากหลายภาคส่วน ทั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า119องค์กร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) รวมถึงองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ผลักดันให้มีการจัดสรรแก่เด็ก 0-6ปีแบบถ้วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาผู้มีสิทธิตกหล่นเข้าไม่ถึงจำนวนมาก ที่สำคัญมองว่าการลงทุนในเด็กเล็กเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
กระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ครั้งที่ 1/2563 วันที่ 2 ก.ค.2563 เห็นชอบในหลักการจัดสรรแบบถ้วนหน้า ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยมอบหมายให้ พม.ตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียด จนล่าสุดที่ประชุม กดยช. ครั้งที่ 2/2563วันที่29 ก.ย.2563 มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดสรรแบบถ้วนหน้า รายละ600บาท/คน/เดือน เริ่มปีงบประมาณ 2565 โดยให้ พม.นำเสนอ ครม.ต่อไป
นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า “ดย.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอ ครม.ภายในไม่เกินสิ้นปี 2563 ขณะเดียวกันได้จัดทำคู่มือการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เป็นผู้ดูแล เป็นการเตรียมความพร้อมคู่ขนานกันไป อย่างไรก็ตาม การจัดสรรแบบถ้วนหน้าจะมีเด็กเพิ่มจากเดิมเท่าตัวหรือประมาณ 4.2ล้านคน ใช้งบประมาณเพิ่มเท่าตัวเช่นกันประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท จากเดิมที่ใช้1.5 หมื่นกว่าล้านบาท แต่เป็นการแก้ปัญหาผู้ตกหล่นได้ดีที่สุด และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า”
ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิชาการจาก TDRIกล่าวว่า “จากการติดตามกลุ่มที่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ พบแม่ที่ได้เงินอุดหนุนทำให้เด็กมีโภชนาการดีขึ้น เด็กได้รับการพาไปหาหมอมากขึ้นแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ทั้งยังเสริมพลังให้ผู้หญิงมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น ส่วนที่กังวลว่าจะนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์พบน้อยมากเพียง 2-3% แต่จากการวิจัยในปี 2561 พบว่า การจัดสรรให้เฉพาะครอบครัวยากจน ทำให้ตกหล่นถึง 30% หรือประมาณ 2.2 ล้านคน สะท้อนถึงการบริหารงานที่ไม่รอบคอบ การจัดสรรแบบถ้วนหน้าจึงเป็นการแก้ปัญหาเด็กตกหล่นดีที่สุด โดยให้คำนึงเป็นสิทธิที่เด็กไทยควรได้รับ และแม้จะมีคนรวยได้รับโอกาสนี้ด้วยก็ให้มองเป็นการคืนภาษีให้เขา เพราะการตกหล่นของเด็กถือเป็นการสูญเสียที่สำคัญของชาติ ซึ่งรัฐสามารถดำเนินการได้โดยใช้งบประมาณปี 2565 รวมถึงปรับเพิ่มภาษี เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือเรียกเก็บภาษีเฉพาะคนที่มีฐานะดีมาสมทบ”
“ผลจากวิกฤติโควิด-19 อาจทำให้ครอบครัวจำนวนมากกลายสถานะเป็นคนยากจนใหม่ ดังนั้น การขยายโครงการให้ครอบคลุมครอบครัวที่มีเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีทุกคนอย่างถ้วนหน้า ถือเป็นการสนับสนุนที่จะช่วยพยุงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวจำนวนมาก และยังช่วยป้องกันไม่ให้พวกเขาต้องยากจนลงกว่าเดิม” ดร.สมชัย กล่าวย้ำ
ทีมข่าวการพัฒนาสังคม มองว่าการลงทุนพัฒนาเด็กเล็ก โดยเฉพาะ 0-6 ปี น่าจะช่วยตอบโจทย์ของสังคมในหลายๆเรื่อง ซึ่งมีข้อมูลเชิงวิชาการสนับสนุนชี้ชัดว่าเป็นช่วงสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการเด็ก การลงทุนกับเด็กในช่วงนี้จะได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่กลับคืนมาถึง 7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงอื่นและหากย้อนไปดูนโยบายการหาเสียงเกือบทุกพรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงรัฐบาลชุดนี้ก็ชูประเด็นสนับสนุนเงินให้กับเด็กเล็กเช่นกัน
ทั้งผู้ใหญ่น่าจะคิดได้เองว่าหากเสียโอกาสการพัฒนาเด็กเล็กช่วงนี้จะส่งผลต่อการสูญเสียคุณค่าทรัพยากรมนุษย์ที่ดีไปตลอดชีวิต
อย่ารอจนถึงวันที่เด็กต้องมาทวงสัญญาเองเลย.
ทีมข่าวการพัฒนาสังคม