ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว โฆษกประจำคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขหนี้สินครู สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับฟังสาเหตุและที่มาของหนี้สินครู สภาพหนี้ รวมถึงแนวทางแก้ไขหนี้สินครู เบื้องต้นได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูภายใต้หลักการดังนี้ ให้มีการรวมภาระหนี้สิน เพื่อเตรียมปรับโครงสร้างหนี้ของครูแต่ละคน, ต้องไม่เพิ่มภาระหนี้สิน, ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อให้ครูมีเงินเดือนเหลือพอเพียงต่อการดำรงชีวิตประจำวัน, การมีส่วนร่วมแบบบูรณาการ ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเป็นระบบ, จัดหาทุนสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือครูในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยรัฐสนับสนุนทุกกระบวนการ และใช้กระบวนการของสหกรณ์ออมทรัพย์หรือกระบวนการอื่น เช่น แนวทางการพัฒนาชีวิตครู เป็นต้น ในการแก้ไขหนี้สินครูทั้งระบบ

ดร.เพิ่มกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้เสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตครู การจัดสวัสดิการบ้านพัก สวัสดิการยานพาหนะ การพักชำระหนี้ 2 ปี การปรับโครงสร้างเงินเดือนให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน การจัดตั้งธนาคารครูไทย หรือธนาคารเพื่อการศึกษา ซึ่งรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวจะมีการนำไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป นอกจากนี้จะจัดให้มีการประชุมสัมมนา ระดมความคิดเห็นเพิ่มเติมจากครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัด จากสถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 4 ภูมิภาค เพื่อสรุปผลการระดมความคิดเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 4 วัน โดยเริ่มต้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น และสรุปเสนอคณะอนุกรรมาธิการฯพิจารณาต่อไป.