จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ชี้ กรณีใช้ถุงดำคลุมหัวเด็ก อ้างแค่หยอก แต่กลับเป็นการสร้างความกลัว ทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ หากเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้ง อาจทำให้มีภาวะมองโลกในแง่ร้าย ซึมเศร้าได้ 

จากกรณีมีคลิปเด็กนักเรียนห้องอนุบาล ถูกครูใช้ถุงดำคลุมหัวนั้น แต่มีบางฝ่ายออกมาบอกว่า เป็นการหยอกเล่นของผู้ใหญ่ ไม่ใช่การทำร้าย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เฟซบุ๊กเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" ของหมอมิน พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้โพสต์ถึงกรณีนี้ว่า จากข่าวที่มีคลิปคุณครูเอาถุงดำครอบศีรษะเด็กนั้น บางคนบอกว่ามันอาจเป็นการ "หยอกเล่นของผู้ใหญ่" ไม่ได้จะทำอะไรเด็ก

อย่างไรก็ตาม ถึงจะบอกว่าทำเพื่อ หลอก หรือ หยอกเล่น หรือเพื่อขู่ให้เชื่อฟังบางอย่าง หรืออะไรก็ตามที แต่ถ้าทำให้เด็กรู้สึกกลัว ก็ส่งผลทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจได้ แถมบ่อยๆ ที่เราพบเห็นว่า ความกลัวของเด็กกลายเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ใช้แกล้งหยอกเย้าเด็กด้วยความสนุกสนาน หรือคิดว่าควรจะขู่ให้กลัว เด็กจึงจะเชื่อ

แต่จริงๆ แล้ว ความกลัวมีความหมายเสมอ ไม่มีใครชอบความรู้สึกกลัวหรอก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่

ยิ่งเมื่อความกลัวเกิดขึ้นกับ "เด็กเล็กๆ" ที่การพัฒนาทางความคิดยังไม่ดีเหมือนเด็กโต การแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ยังไม่ถูกต้องตามความจริง ความกลัวก็ยิ่งบั่นทอนความรู้สึก และส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว หากความกลัวนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ตามทฤษฎีของ Piaget พูดถึงเด็กในวัย 2-7 ปีว่าเป็นช่วง Preoperational stage ซึ่งเด็กจะมีลักษณะความคิดที่มีจินตนาการ (fantasy) มาก ความมีจินตนาการของเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ แต่บางครั้งการที่ยังแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการไม่ได้ เด็กเล็กๆ จึงมักมีความกลัวบางอย่างที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล ความกลัวของเด็กนั้น แม้จะดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่ แต่มันก็มีความหมายและควรให้ความสำคัญ เช่น เด็กบางคนกลัวว่าเวลานั่งโถส้วม จะถูกดูดลงไปในโถ เด็กบางคนคิดว่าใบกล้วยนอกหน้าต่างตอนกลางคืนเป็นมังกรยักษ์ในนิทาน ฯลฯ

...

เวลาที่ผู้ใหญ่หลอกอะไรเด็กเล็ก หรือขู่ให้กลัว เด็กก็มักจะปักใจเชื่อจริงๆ เช่น มีแม่คนหนึ่งขู่เด็กว่าถ้าเป็นเด็กดื้อ เดี๋ยวแม่จะออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ตั้งแต่นั้น เด็กก็ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะกลัวว่าแม่จะหนีจากเขาไป

ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัย หรือสวัสดิภาพของตัวเองกับคนที่เขารัก เช่น พ่อแม่ เด็กจะกลัวมากขึ้นเป็นหลายเท่า บางครั้งความกลัวก็ทำให้เด็กฝันร้าย นอนไม่หลับ

แม้จะไม่มีเหตุผลนัก แต่ความกลัวของเด็กก็มีอยู่จริง และมันอาจจะส่งผลกระทบกับเด็กบางคนจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ เช่น ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เป็นโรคกลัวที่แคบ เมื่อย้อนประวัติไปในวัยเด็กก็พบว่า ตอนเล็กๆ ถูกพ่อแม่ขังไว้ในห้องเก็บของมืดๆ แคบๆ อยู่หลายชั่วโมง ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าการแกล้งเด็กเป็นเรื่องสนุกขำขัน แล้วก็ให้เหตุผลว่า “ก็เขายังเด็ก ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก”

ความกลัวถ้าเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้ง จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางใจ มีผลกระทบกับความรู้สึก ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง การมองโลกในแง่ร้าย ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า

หยุดแกล้งหรือหยอกให้เด็กกลัว จนทำให้กลายเป็นความทรงจำที่ฝังใจเลย โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่เด็กรักและเชื่อใจ

และถ้าอยากให้เขาเป็นเด็กดีให้เขาเชื่อฟัง อยากเล่นกับเขา อย่าใช้วิธีข่มขู่หรือหยอกเล่นให้เด็กกลัว เล่นกับเขาดีๆ หรือบอกเขาตรงๆ ว่าผู้ใหญ่อยากให้เขาทำอะไร ตรงนั้นจะดีกว่า และจะทำให้สัมพันธภาพในระยะยาวดีด้วย

ที่มาจาก เฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา