ผมเพิ่งอ่าน “อนุสาร อ.ส.ท.” นิตยสารว่าด้วยการท่องเที่ยวที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศฉบับเดือนสิงหาคม 2563 จบทุกหน้าเดี๋ยวนี้เอง
จบปุ๊บก็คว้าปากกาขึ้นมาเขียนถึงปั๊บในทันทีทันใด ด้วยความอิ่มเอมปลื้มปีติตามประสา ส.ว. หรือผู้สูงวัยที่ยังโหยหาความหลังที่เปี่ยมไปด้วยความสุขในอดีตนานัปการที่นิตยสารฉบับนี้บันทึกไว้
เนื่องจากเป็นฉบับพิเศษครบรอบ 60 ปี เรื่องราวส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับที่มาที่ไปและเส้นทางเดินนับตั้งแต่ก้าวแรกมาจนถึงปัจจุบันของนิตยสารท่องเที่ยวที่ขายดีที่สุดของประเทศไทยฉบับนี้
นอกจากจะพูดถึงบุคคลที่อยู่เบื้องหลังทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายบรรณาธิการ ไปจนถึงฝ่ายจัดจำหน่ายอย่างครบถ้วนแล้ว ยังมีการกล่าวถึง “สาระสำคัญ” ของเหตุการณ์บ้านเมือง และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆมาโดยตลอด
เรื่องราวของ โผน กิ่งเพชร แชมป์โลกคนแรกของไทย ภาพปก และเรื่องราวของ อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลคนแรกจากประเทศ ไทย...ภาพปกและเรื่องราวของ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2509 ที่ เราขันอาสาเป็นเจ้าภาพและประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง
แม้จะไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก แค่เห็นหัวข้อเรื่องและเห็นภาพ...คนที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์อย่างผมก็สามารถขยายความได้เองอีกหลายหน้ากระดาษแล้วละครับ
อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับปฐมฤกษ์ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2503 โดยความคิดริเริ่มของ พลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวคนแรก หลังจากรัฐบาลได้ประกาศตั้งองค์กรแห่งนี้ขึ้นในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน
เนื่องจากเดือนสิงหาคม เป็นเดือนพระราชสมภพของ สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คณะผู้จัดทำจึงอัญเชิญพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านขึ้นปกเพื่อความเป็นสิริมงคล
...
จัดพิมพ์ 4 สีเฉพาะหน้าปกเท่านั้น โดยพิมพ์กระดาษอาร์ตในระบบทำบล็อกแยกสี ซึ่งทันสมัยที่สุดของ พ.ศ.2503 ส่วนเนื้อในพิมพ์ด้วยกระดาษปรู๊ฟขาวดำ เรียงด้วยตัวตะกั่วเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารทั่วไปในยุคเดียวกัน
มีทั้งหมด 48 หน้า จำหน่ายราคา 1 บาท 50 สตางค์ พิมพ์ 10,000 เล่ม ขายเกลี้ยงไม่มีเหลือ
เหตุที่ใช้คำว่า “อนุสาร” ก็เพราะฉบับแรกและยุคแรก เป็นหนังสือ ขนาด 8 หน้ายก จึงเล็กกว่านิตยสารทั่วๆไป ส่วนคำว่า อ.ส.ท. เป็นคำย่อของชื่อสำนักงานอยู่แล้ว นำมาใช้คู่กันก็เป็นที่รู้ว่าเป็นอนุสารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและติดปากผู้คนตั้งแต่นั้นมา
แม้กระทั่งในปี 2522 ที่รัฐบาลยกฐานะองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทยให้เป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเปลี่ยนคำย่อมาเป็น ททท.
แต่ “อนุสาร” ฉบับนี้ซึ่งขยายมาเป็น “สาร” ขนาดเขื่องขึ้น มิใช่ อนุเหมือนเดิมแล้ว...ก็ยังคงใช้คำว่า “อนุสาร อ.ส.ท.” ต่อไป เพราะเป็นคำที่ติดตลาดและติดอยู่ในความทรงจำของคนไทยเรียบร้อยแล้ว
จากราคาเล่มละ 1 บาท 50 สตางค์ หรือหกสลึง จำหน่าย 10,000 เล่ม อนุสาร อ.ส.ท. ยอดพุ่งพรวดขึ้นเรื่อยๆจนถึง 1 แสนเล่ม--สูงสุดในนิตยสารประเภทเดียวกัน
ปัจจุบันสนนราคาบนแผ่นปกอยู่ที่ 85 บาท จะขายได้ 1 แสนเล่ม หรือเปล่าไม่ทราบ--เท่าที่อ่านจากบรรณาธิการปัจจุบัน (วินิจ รังผึ้ง) ก็เห็นท่านบ่นไว้ตอนหนึ่งว่า
“ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติจนเพื่อนนิตยสารมากมายหลายหัวหลายค่ายต้องโบกมืออำลาไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่ง อ.ส.ท.ก็คงไม่อาจหลีกเลี่ยงพ้นแต่ก็ขอยืนยันว่าเราจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อทำหน้าที่เพื่อนร่วมทางของท่านผู้อ่านอย่างเต็มที่”
บ่นได้ท้อได้แต่ห้ามถอยนะครับ...สู้ๆต่อไปนะครับ...อ่านนิตยสารของท่านในอีบุ๊กแล้ว ในเว็บไซต์แล้ว...หรือเห็นโฆษณาแล้วละว่า จะไปออกอากาศทางโทรทัศน์ของ อสมท ด้วย ฯลฯ
แต่ยังไงๆ ก็สู้อ่านจากฉบับพิมพ์ (ยุคนี้กระดาษอาร์ต 4 สีทั้งเล่ม) ที่วางบนโต๊ะข้างหน้าผมไม่ได้เลยครับ ท่านบรรณาธิการ.
“ซูม”