โซเชียลเดือด ผุดแฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต หลัง ครม. มีมติเห็นชอบให้เสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ด้าน ส.ส.พรรคก้าวไกล ชี้ "คู่ชีวิตไม่เท่ากับสมรสเท่าเทียม"

ก่อนหน้านี้พบว่าในโลกออนไลน์ได้มีการติดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม เพื่อรณรงค์ให้คนเข้าไปแสดงความคิดเห็น ต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เพื่อแก้ไขกฎหมายสมรสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการ "หมั้น" และ "สมรส" กันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายสร้างความเสมอภาคให้กับทุกเพศ

โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีความเกี่ยวเนื่องกัน ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้ว

ทำให้โลกออนไลน์เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก รวมทั้งมีการติดแฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต จนติดเทรนด์ยอดนิยมของทวิตเตอร์ประเทศไทย โดยส่วนใหญ่มองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ผ่านมตินั้น ยังไม่ได้ให้สิทธิ์ความเท่าเทียมทางเพศเท่ากับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ หรือ กฎหมายสมรส

...

ทั้งนี้ แฟนเพจ iLaw เคยเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ แนวทางแก้ไขกฎหมายสมรส (พรรคก้าวไกล) นั่นก็คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ได้ให้สิทธิ์เพศเดียวกันสามารถหมั้นกันอย่างถูกกฎหมาย ไม่ให้สิทธิ์เข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์คู่ชีวิต/คู่สมรส

อย่างไรก็ตาม ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พร้อมด้วย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตในวันนี้ ว่า ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าเกิดความสับสน และขอทำความเข้าใจว่าร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ…..( พ.ร.บ.คู่ชีวิต) เป็นคนละฉบับกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 1448 (สมรสเท่าเทียม) เพื่อการสมรสเท่าเทียมที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอนั้นมีสาระสำคัญ คือ "คู่ชีวิตไม่เท่ากับสมรสเท่าเทียม" คือ การที่เราแก้ไขสมรสเท่าเทียม คำว่าคู่สมรสนั้น ถูกบัญญัติอยู่แล้วในกฎหมายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการของราชการ สวัสดิการเอกชน ที่จะให้สิทธิ์กับคำว่าคู่สมรสและการสมรสเท่าเทียมจะปกป้องเเละดูเเลคู่สมรสให้ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เป็นการยืนอยู่อย่างเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายของประเทศ

ทั้งนี้ คำว่า "คู่ชีวิต" ไม่ได้ถูกบัญญัติมีอยู่ในกฎหมายอื่นๆ เป็นคำใหม่ จึงทำให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่สามารถทำให้คู่ชีวิตได้รับการปกป้องดูแลและรับสิทธิ์เหมือนคู่สมรส โดยธัญวัจน์ระบุเพิ่มเติมว่าการสมรสเท่าเทียม คือ การสร้างความเท่าเทียม สร้างคนให้เท่ากันในสังคม ซึ่งเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

ขณะที่ ธัญญ์วาริน ระบุว่า ร่างพ.ร.บ คู่ชีวิต ถ้าผ่านและใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแปลกและแตกต่าง ตอกย้ำอคติทางเพศในสังคมไทย เพราะ เมื่อเราต้องการจดเทะเบียนสมรสและได้สิทธิ์ตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมทุกคน แล้วทำไมถึงต้องใช้กฎหมายคนละตัว ซึ่งถ้าใช้สมรสเท่าเทียมจะทำให้คนไทยทุกคน ได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกันในสังคม

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ…. (พ.ร.บ. คู่ชีวิต) ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วก็จริง แต่จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปีพุทธศักราช2560 ในสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน.