คนมีชื่อเสียง ชาวโซเชียล ติดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม เชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ หนุนเพศเดียวกัน ต่างเพศ หมั้น-สมรส ถูกกฎหมาย

แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ยังคงเป็นแฮชแท็กติดอับดับยอดนิยมของทวิตเตอร์ประเทศไทย หลังจากมีชาวโซเชียลและคนดังในวงการหลายคนออกมาเชิญชวนให้แสดงความคิดเห็น ต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เพื่อแก้ไขกฎหมายสมรสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายสร้างความเสมอภาคให้กับทุกเพศ

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มีดังนี้

1. การหมั้น ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ทำการหมั้นกันได้ และเสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น "ผู้หมั้น" และ "ผู้รับหมั้น" แทนคำว่า "ชาย" และ "หญิง" และการหมั้นที่สมบูรณ์ต้องให้ผู้หมั้นส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น เรื่องสิทธิ์และหน้าที่ระหว่างคู่หมั้น ยังคงหลักการเดิม

2. การสมรส ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า "ชาย" หรือ "หญิง" เป็น "บุคคล" เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล เช่น

...

  • บุคคลซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาจะทำการสมรสกันมิได้
  • บุคคลจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้
  • การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองยินยอมเป็นคู่สมรส
  • คู่สมรสต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรส และช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามความสามารถและฐานะของตน
  • การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของคู่สมรส สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
  • การหย่า เหตุหย่า การฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส สิทธิ์ได้รับค่าทดแทน การแบ่งสินสมรส
  • การเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งกรณีศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
  • การรับบุตรบุญธรรม


3. คู่สมรสอันเป็นบุคคลทั้งสองคน ไม่ได้จำกัดแค่เพศชายและหญิง มีสิทธิ์หน้าที่ต่อกันตามกฎหมาย รวมไปถึงสิทธิ์ในการรับมรดก การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน

4. คู่สมรสไม่ว่าเพศใดก็สามารถจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

สำหรับประเด็นเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มีดังนี้

1. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น "เพศเดียวกัน" และ "ต่างเพศ" สามารถทำการหมั้นกันได้หรือไม่

2. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น "เพศเดียวกัน" หรือ "ต่างเพศ" สามารถสมรสกันได้ ตามกฎหมายหรือไม่

3. ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะทำการสมรสกันได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือไม่ (ปัจจุบัน 17 ปี)

4. ควรแก้ไขให้คู่สมรสทั้งที่เป็นเพศเดียวกันและต่างเพศ มีสิทธิ์ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันเหมือนสิทธิ์ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาหรือไม่


อย่างไรก็ตาม ล่าสุด วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 เวลา 11.20 น. พบว่า ขณะนี้มีผู้แสดงความคิดเห็นแล้ว 38,652 คน สำหรับผู้ที่สนในแสดงความคิดเห็น ต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 

แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ (คลิกที่นี่)

อ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ (คลิกที่นี่)