ศูนย์วิจัยโรคปรสิต เผยเรื่องเตือนภัยพบ "พยาธิตัวจี๊ด" ในผู้ป่วย 2 ราย หลังกินเมนูซาชิมิ "ปลาเงิน" หรือ "Shirauo" มีอาการคัน มีรอยนูนเคลื่อนที่

แฟนเพจ PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โพสต์ภาพและข้อความเตือนภัยหลังพบ ผู้ป่วย 2 รายติดพยาธิตัวจี๊ดหลังกิน Shirauo

โดยระบุว่า เชื่อว่าหลายท่านคงชื่นชอบและลิ้มลองเมนูเด็ดพวกซูชิ ซาชิมิ กับวัตถุดิบอย่างปลาเงิน Japanese icefish หรือ Shirauo ปลาตัวเล็กๆ สีขาวใสๆ วัตถุดิบฤดูใบไม้ผลิอันขึ้นชื่อของญี่ปุ่น ซึ่งมีรสชาติอร่อย อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันต่ำ แต่มีเรื่องที่อยากนำมาเล่าให้ฟัง แต่ก็ไม่อยากให้ตื่นตระหนกกันจนเกินไป เดี๋ยวสมาชิกจะไม่เป็นอันกินอันนอน เอาเป็นว่ารู้ไว้ให้เห็นอีกมิติ

โดย Korekawa และคณะ (2019) ได้รายงานเคสผู้ป่วย 2 ราย ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of Dermatology ดังนี้

ผู้ป่วยรายที่ 1 เป็นหญิงอายุ 21 ปี มาโรงพยาบาลด้วยมีประวัติอาการคัน มีรอยเส้นบริเวณหน้าท้องด้านขวา แล้วมีรอยนูนเคลื่อนที่ (ดังภาพ a) หลังจากกินปลาเงินดิบเป็นจำนวนมากที่จับได้ที่ Hachirogata Lagoon ทางตอนเหนือของจังหวัดอาคิตะ แพทย์ทำการตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังขนาดเล็ก (skin biopsy) นำไปตรวจทางพยาธิวิทยา พบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (eosinophils) และเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocytes) จำนวนมาก (ภาพ b)

ผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายอายุ 65 ปี มาด้วยอาการคันและอาการปวดเล็กน้อย มีรอยนูนเป็นเส้นบริเวณหน้าท้องด้านซ้าย และมีรอยนูนเคลื่อนที่ มีอาการมาเป็นเวลา 1 เดือนหลังจากกินปลาเงินดิบจำนวนมากที่จับได้ในบริเวณเดียวกันจากผู้ป่วยรายแรก (ภาพ d) ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา ivermectin (12 มก. / วัน) อาการดีขึ้น

...

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทั้ง 2 รายได้รับการวินิจฉัยว่าติดพยาธิตัวจี๊ด Gnathostoma nipponicum จากการตรวจวิเคราะห์ทางชีวโมเลกุล ปกติพยาธิตัวจี๊ดเหล่านี้ ตัวอ่อนจะพบได้ในงู ปลาน้ำจืดหลายชนิด และกบ

สำหรับปลาเงินนั้นจะเกิดและวางไข่ที่แม่น้ำ สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในแม่น้ำ (น้ำจืด) และน้ำทะเล เป็นไปได้ที่ตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ดจะอาศัยอยู่ตามวงจรชีวิต ดังนั้นแล้วหากท่านชื่นชอบอาหารดิบก็อาจจะเสี่ยงติดพยาธิชนิดนี้ได้ จำเป็นจะต้องแช่แข็งให้นานมากยิ่งขึ้น หรือทำให้สุกไปเลย.