เผยโควิดกระทบการสำรวจ รุก อว.ปรับเกณฑ์ขยายเวลาส่งเล่ม

รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า ปัจจุบันนักวิจัยไทยยังเผชิญปัญหาการทำวิจัยอย่างครบวงจร ด้วยข้อจำกัดด้านกระบวนการวิจัยและพัฒนาในการผลักดัน “งานวิจัยหรือนวัตกรรมต้นแบบ” (Prototype) สู่ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” และ “นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ” ที่ได้ รับการผลิตและพร้อมปรับใช้ในบริบทต่างๆของสังคม ทั้งนี้ TSE มีนโยบายในการผลักดันงานวิจัย ให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม ตลอดจนสอดรับความ ต้องการสังคมและภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

อาทิ “Tham-Robot” หุ่นยนต์จัดส่งเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วย, “Tham-UV Clean” ตู้ฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยใน 5 นาที ใช้ซ้ำสูงสุด 10 ครั้ง, “นวัตกรรมการออกแบบระบบห้องและการปรับอากาศความดันลบสำหรับการกักตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19, โมเดลคอมพิวเตอร์ที่สามารถจำลองการเคลื่อนที่ของละอองฝอย”, “Space Walker” อุปกรณ์ช่วยเดินแบบมีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และนวัตกรรมอาหารแช่แข็งอบร้อนไมโครเวฟ

ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์ประจำภาควิชาเครื่องกล TSE และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัยเชิงประยุกต์ หรือนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคมในมิติต่างๆ ร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเติมเต็มนวัตกรรมขานรับยุทธศาสตร์ชาติ นักวิจัยไทย ต้องเร่งเดินหน้าพัฒนางานวิจัยยุคใหม่ใน 2 รูปแบบ ดังนี้

...

1.วิจัยตรงความต้องการประเทศ ที่พร้อมสนับสนุนการทำงานในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เช่น นวัตกรรมที่ช่วยลดต้นทุนภาคการผลิต เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ รวมถึงยกระดับสิ่งเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม

2.วิจัยทันกระแส พร้อมแก้ปัญหาสังคม เช่น ปัญหาสุขภาพคนไทย ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม

“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาวิจัย ในขั้นตอนเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง การอ้างอิงผลวิจัยจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรยื่นมือให้การช่วยเหลือนักวิจัยไทยและบัณฑิตศึกษา โดยปรับเกณฑ์พิจารณางานวิจัยชั่วคราว เช่น ควรมีมาตรการผ่อนปรนหรือขยายช่วงเวลาการพัฒนาและส่งเล่มวิจัยเพิ่มขึ้น และปรับเกณฑ์ประเมินวิจัยใหม่ ในกรณีที่นักวิจัยสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยหรือนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับกระแสสังคม อว.ก็ควรพิจารณาให้งานวิจัยดังกล่าว สามารถเก็บเครดิตทดแทนวิจัยเดิมได้” ศ.ดร.ผดุงศักดิ์กล่าว.