การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและผลผลิตทางการเกษตร
เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา Toman หรือปลาชะโด เพื่อการส่งออกไปมาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นอีกกลุ่มที่ถูกผลกระทบ ทำรายได้เป็นศูนย์ เกษตรกรจำเป็นต้องหาหนทางจำหน่ายในประเทศ เพื่อระบายผลผลิตที่คั่งค้างให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนมาหล่อเลี้ยงชีวิต
“กลุ่มมีสมาชิกกว่า 20 รายใน 8 จังหวัด มีพื้นที่การเลี้ยงมากกว่า 1,000 ไร่ นำพันธุ์ปลาขนาด 1-4 นิ้ว มาเลี้ยงในกระชัง เมื่อโตเกิน 4 นิ้ว นำไปปล่อยเลี้ยงลงบ่อ เลี้ยงไปได้ 1 ปี จะมีน้ำหนักตัวละประมาณ 4 กก. แล้วนำมาแล่เอาเฉพาะเนื้อแช่แข็ง ส่งไปสิงคโปร์ มาเลเซีย ทางเครื่องบิน ได้ราคาเฉลี่ย กก.ละ 300 บาท มีออเดอร์เดือนละ 15 ตัน นับตั้งแต่โควิดระบาดขายไม่ได้เลย”
นายณรงศักดิ์ พู่วรรธนะ หรือจ๊อด วัย 47 ปี ประธานกลุ่มจ๊อดปลาชะโดไทย บ.บางพลับ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี บอกถึงสถานการณ์ที่กำลังประสบพบเจอเป็น
...
ครั้งแรกนับแต่เลี้ยงปลา Toman มานานกว่าสิบปี “ครั้นจะเอามาขายในบ้านเราคงขายไม่ออก เพราะคนไทยไม่นิยมบริโภคเนื่องจากยึดติดกับความเชื่อเก่าๆว่า รสชาติไม่อร่อย มีกลิ่นสาบ ทั้งที่ปลาชะโด Toman ที่เราเลี้ยงส่งออก เป็นปลาชะโดพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ประกอบกับอาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นปลาสด อย่างปลาทู ปลาข้างเหลือง รสชาติความอร่อยจึงไม่เหมือนปลาชะโดในธรรมชาติ เลยเป็นที่นิยมกันในสิงคโปร์และมาเลเซีย”
เพื่อให้ปลา Toman สามารถขายในประเทศ ไทย และจูงใจให้คนไทย บริโภคมากขึ้น กลุ่มจ๊อดปลาชะโดไทยจึงได้จับมือกับสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดทำเมนูอาหารที่สอดคล้องกับเนื้อปลาในเมนูยอดนิยมของคนไทย
มีทั้งพะแนง แกงเขียวหวาน สะเต๊ะ ต้มยำน้ำข้น ผัดพริกไทยดำ ต้มซีอิ๊วญี่ปุ่นต้มข่า กระเพาะปลา และข้าวหมกปลา...แตกต่างจากคนมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่นิยมนำไปทำสเต๊กปลาชะโดเสียเป็นส่วนใหญ่
สนใจชิมเนื้อปลาชะโดในมิติใหม่ สอบถาม ได้ที่ 06-3549-9422.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน