โอกาสท่ามกลางวิกฤติสงครามไวรัสโควิด–19

สิ่งที่เราได้เห็นจากสังคมไทย คือ การร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย เพื่อนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤติให้ได้

ล่าสุด กลุ่มนวัตกรเครือข่ายโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่กระจายอยู่ในโรงเรียนวิทยาลัยเทคนิคทั่วภูมิภาคต่างๆ ได้นำองค์ความรู้และเครื่องมือทางวิศวกรรมในห้องปฏิบัติการโรงประลองต้นแบบฯ พัฒนาโล่หน้ากากป้องกันเชื้อ (Face Shield) และ กล่องป้องกันเชื้อกระจาย (Aerosol Box) มอบแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการป้องกันและลดความเสี่ยงในขณะปฏิบัติงานทั่วประเทศ

“โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม สนับสนุนโรงเรียนและวิทยาลัยเทคนิค รวม 150 แห่งทั่วประเทศ เพื่อมุ่งพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และเครื่องตัดเลเซอร์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยได้พัฒนาทักษะด้านวิศวกรรม เกิดแนวคิดในการออกแบบ คิดค้น สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จนเกิดเป็นชิ้นงานที่สามารถตอบโจทย์แก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือสังคมในชุมชนของตนเองได้” ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผช.ผอ.สวทช. ผู้รับผิดชอบโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม เล่าถึง โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม

...

ผช.ผอ.สวทช.กล่าวด้วยว่า ผลงานของกลุ่มนวัตกรในโครงการที่ผลิตออกมาเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ มีทั้ง Face Shield โล่หน้ากากที่สวมไว้เพื่อป้องกันฝอยละอองเชื้อโควิด-19 แพร่กระจายโดนใบหน้า และ Aerosol Box เป็นกล่องป้องกันเชื้อกระจายแบบสอดท่อ ในรูปแบบกล่องอะคริลิกใส ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ทำการเจาะช่องให้สอดมือเข้าไปได้ โดยวิธีใช้จะใช้ครอบบริเวณศีรษะของผู้ป่วย ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถสอดมือเข้าไปในช่องเพื่อทำการรักษาหรือใส่ท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วย ซึ่งอุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิด ได้พัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้และเครื่องไม้เครื่องมือทางวิศวกรรมที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการ

สำหรับโรงประลองต้นแบบฯ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้พัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์และมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้วหลายแห่ง จนถึงปัจจุบันยังมีการผลิตนวัตกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง

ที่ โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (FabLab) บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. ได้ทำการทดลองพิมพ์ชิ้นงาน Face Shield ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ จากต้นแบบที่ได้รับการสนับสนุนมาจากกลุ่มนักประดิษฐ์ สู่การปรับแบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งอุปกรณ์หลักประกอบด้วยแผ่นใสและยางยืด โดยได้เตรียมส่งมอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลปทุมธานี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสามโคก และแผนกแพทย์กองบริการ หน่วยบัญชาการทหารอากาศโยธิน เป็นต้น

ที่ จ.ลำพูน โรงเรียนจักรคำคณาทร และ โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน ผนึกกำลังสร้างอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยง (Aerosol box) เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งจะส่งมอบให้ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลลำพูน

ที่โรงประลองต้นแบบฯ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิต Aerosol box เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลในเขตภาคเหนือ

ที่ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง ผู้บริหารและคณะครูแผนกแมคคาทรอนิกส์ ส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยง Aerosol box เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 และใช้ป้องกันเชื้อของเจ้าหน้าที่มอบให้กับโรงพยาบาล จ.ลำปาง

ที่โครงการ FabLab โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ผลิต Face Shield แบบโครงพลาสติก โดยปรินต์จาก 3D printer ของ FabLab นำไปบริจาคให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลน

ที่ มหาวิทยาลัยพะเยา ผลิตกล่องป้องกันเชื้อกระจายแบบสอดท่อ (AerosolBox) โดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือห้องปฏิบัติการ FabLab ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลพะเยาและโรงพยาบาลเชียงคำ

ในส่วนภาคกลาง โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จ.ฉะเชิงเทรา ผู้บริหารและคณะครูห้องปฏิบัติการ FabLab ส่งมอบกล่อง Aerosolbox จำนวน 2 ใบ และ Face Shield จำนวน 30 ชิ้น ให้แก่ โรงพยาบาลพุทธโสธร และยังคง เดินหน้าประดิษฐ์ต่อไป เพื่อนำไปมอบให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ

ขณะที่ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตและจัดทำอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ อาทิ FabLab วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี ผลิตและจัดทำกล่อง Aerosol box จำนวน 70 กล่อง และ Face shield จำนวน 200 ชิ้น ส่งมอบให้โรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และมอบให้หน่วยกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่ จ.ปัตตานี รวมถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปัตตานี เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจ พร้อมจัดทำต้นแบบเครื่องกดเจลล้างมืออัตโนมัติ จำนวน 5 เครื่อง ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.สงขลา

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่กลุ่มนวัตกรเครือข่าย FabLab สวทช. ทั่วประเทศ ได้นำองค์ความรู้และเครื่องมือห้องปฏิบัติการ FabLab มาใช้เพื่อพัฒนาและประดิษฐ์นวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อร่วมด้วยช่วยกัน ฝ่าวิกฤตินี้ไปให้ได้ ปัจจุบันยังมีชิ้นงานที่กำลังจัดพิมพ์และผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องชิ้นแล้วชิ้นเล่า เพื่อส่งเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาล นอกจากนี้ นับเป็นข่าวดีเพราะบริษัท XYZ printing Thailand ได้ ให้การสนับสนุนโครงการ FabLab สำหรับภารกิจครั้งนี้ ด้วยการมอบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพิ่มเติมให้กับบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จำนวน 5 เครื่อง และมอบให้กับโรงเรียน วิทยาลัยเทคนิค และมหาวิทยาลัยในเครือข่ายอีก 15 เครื่อง เพื่อดำเนินภารกิจทำอุปกรณ์เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย” ดร.อ้อมใจ กล่าวทิ้งท้าย

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรมผลิตนวัตกรรมนอกจากจะช่วยให้เยาวชนได้ฝึกลงมือสร้างชิ้นงานจากความคิดและจินตนาการ เกิดการเรียนรู้และความภาคภูมิใจเพื่อที่พวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญที่มีความรับผิดชอบต่อประเทศแล้ว ผลงานของนวัตกรที่ทำขึ้นยังเป็นการตอบแทนสังคมไทยโดยใช้ความรู้ศาสตร์ทางวิศวกรรมด้านต่างๆ ทดลองสร้างชิ้นงานเป็นเครื่องมือช่วยผู้คนในสังคม

สำคัญสุด คือ การสร้าง “นวัตกร” ที่สามารถตอบโจทย์ประเทศในการต่อสู้มหันตภัยรูปแบบ ต่างๆที่คุกคามมนุษยชาติในโลกยุคใหม่.

ทีมข่าวอุดมศึกษา