ก็ขนาดฝึกสมาธิบรรลุขั้นสร้างนิมิตติดตา ขยายย่อ และสร้างนิมิตนั้น เห็นเป็นรูปร่างจริงจังได้ ท่านอาจารย์พุทธทาส แห่งสวนโมกข์ ยังบอกว่า “เป็นแค่ของเด็กเล่น”

ในหนังสืออัตชีวประวัติ “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” (พระประชาปสันธัมโม สัมภาษณ์ สำนักพิมพ์โกมล คีมทอง พ.ศ.2535) บทที่ 5 ทำหน้าที่พุทธทาส ประกาศพุทธธรรม หัวข้อ “ของเล่นในชีวิตสมณะ”

ท่านอาจารย์เล่าว่า เคยเล่นกับของเล่นๆมากมาย เล่นถ่ายรูป เล่นฉายหนัง เล่นหนังตะลุง เล่นจอมปลวก เลี้ยงนก เลี้ยงกา เลี้ยงจิ้งจก ตุ๊กแก เลี้ยงปลา ฯลฯ

ทุกเรื่องที่เล่นด้วยเหตุปัจจัยอื่นใด ท่านอาจารย์ศึกษาค้นคว้าอย่างลงลึก รู้จริง

เรื่องเลี้ยงปลาเกิดจากต้องการป้องกันปลวก มดขึ้นกุฏิ อาจารย์เล่าว่า ลงมือขุดที่ขังน้ำรอบๆที่พักด้วยตัวเอง แล้วหาปลาใหญ่มาเลี้ยงไว้ มหาเฉวียงเลี้ยงปลาเงิน ปลาทอง

พระทวีเก่งทางผสมปลาทองออกมาเป็นพันๆ ท่านหัวเราะเมื่อบอกว่า “เรามีเอนไซโคปิเดียปลาด้วย”

เมื่อรู้ความลับที่จะทำให้ปลาโตเร็ว การเลี้ยงปลาก็ยิ่งสนุก ทำให้มันเปลี่ยนสี ทำให้มันมีชีวิตรอด มีวิธีมากมายหลายสิบอย่าง “ผมเคยบ้า หมดเวลากับมันมาก ผสมออกมาเกือบคล้ายสีธงชาติ” ท่านว่า “เคยนั่งดูปลาทั้งวัน”

มีคนเอาปลาดิสกัสปอมปาดัว ปลาแพงที่สุด คู่ละตั้งสี่พันบาท จากกรุงเทพฯมาให้ มันก็ดีจริงๆ อยู่ได้สบาย มีสีม่วง สีเขียว สีคราม เหลื่อมกันหลายสี

บ้านเดิมมันอยู่ที่อเมซอน เกิดในบึงอยู่ระหว่างต้นอ้อ ตัวแบนเหมือนจาน เรียกดิสกัสที่แปลว่าจานนั่นแหละ

ปลาทะเลบ้านเราคล้ายปลาดิสกัสปอมปาดัว สวยน้อยกว่า บางตัวมีหลายสี ชาวบ้านเรียกปลาขี้เก้ง

...

อาจารย์เล่าว่า เลี้ยงปลาจนรู้ว่าปลามีจมูก เอาอาหารวางบนใบบัว มันก็รู้ได้ มันตอดใบบัวทะลุตรงอาหารพอดี แล้วรู้ต่อว่าปลามีประสาทรับเสียง ยาวตั้งแต่หูไปถึงหาง มันจำได้ แยกเสียงได้ ใครเดินมา

“ผมเดินมา มันรู้ มันขึ้นมา มันรู้ว่าเป็นคนที่เคยให้อาหารมัน คนอื่นเดินมามันไม่ขึ้น”

ท่านพุทธทาสเก็บข้อมูลการเลี้ยงปลาไว้เป็นปึกๆ ตั้งใจจะเขียนเรื่องปลาเกี่ยวกับการดับทุกข์ แต่ก็ไม่ได้เขียน

แต่ก็พอมีตัวอย่าง...ท่านว่าปลามีสองประเภท

ประเภทแรก ตระกูลปลาตะเพียน ปลาหางแฉกจะเคลื่อนที่ไปเรื่อยไม่อยู่ประจำ แม้แต่ออกไข่แล้วก็ยังทิ้งไปเลย มันไม่รู้ไม่ชี้ ไม่มีการยึดถือว่าที่ตรงนี้ของเรา รังของเรา ลูกของเรา ไข่ของเรา

ปลาตะเพียน ปลาทอง มากันฝูงๆไล่กันมา ไข่ราดบนกอหญ้าแล้วก็หายไป

อยู่ข้างหลัง ไข่ก็จะออกเป็นตัวเอง ตามบุญตามกรรม มดกินเสียบ้าง แดดเผาเสียบ้าง รอดไม่ถึง 10% ถึงอย่างนั้นมันก็มีพันธุ์เหลือ ตระกูลปลาตะเพียนแม่หนึ่งไข่ออกมาครั้งละสี่พันฟอง รวมๆกันไข่เป็นล้านๆ

ปลาอีกประเภทตรงกันข้าม มันมีตัวกู ของกู พอเป็นหนุ่มเป็นสาวหน่อยมันก็จับคู่ มีคู่ของกู มีที่อยู่ของกู บริเวณนี้ใครเข้ามาใกล้ไม่ได้ รังของกู เมียของกู เข้ามาเป็นสู้ตาย

ปลากัดสูงสุดในเรื่องตัวกู ของกู เป็นนักสู้กัดจนตัวตาย คนเคยเลี้ยงจะรู้ดี แค่ไปมองมันจะหูกางหางกาง จะกัดคนมอง

ปลาพวกนี้มีปลากัด ปลากิม ปลากระดี่ ปลาหมอ หางเป็นพัด ไม่เป็นแฉกสองแฉกเพราะไม่ต้องการว่ายทวนกระแสน้ำ ไม่ต้องการว่ายน้ำไปไกลๆ

“นี่ไง! แม้แต่ปลาก็มีสองชนิด” ท่านหัวเราะ “อนาคาริก (ไม่มีเรือน) พวกหนึ่ง อาคาริก (มีเรือน) พวกหนึ่ง”

อ่านถึงตอนนี้ ก็จะรู้ดีว่าทุกเรื่องที่ดูเหมือนเล่นๆของท่านอาจารย์พุทธทาส เจตนาเข้าหาธรรมะทั้งสิ้น

ในยามนี้ หาของเล่นกันบ้างนะครับ แม้ของเล่นนั้นจะขาดสาระอะไรไปบ้างก็เล่นไปให้สนุกเถิด...สถานการณ์นี้ การอยู่บ้าน เป็นการหยุดเชื้อ เพื่อชาติ ช่วยชาติได้ เป็นคุณทั้งตัวเอง คนใกล้ตัวไปถึงบ้านเมือง.

กิเลน ประลองเชิง