กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด–19 (COVID–19) เป็นโรคติดต่ออันตราย วันที่ 26 กุมภาพันธ์ แถลงความคืบหน้า มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 ราย ซึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน โดย 2 ราย มีประวัติเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น
ส่วนอีก 1 ราย เป็นหลานวัย 8 ขวบ ไม่ได้เดินทางไปด้วย แต่เป็นผู้ใกล้ชิด
ประเด็นน่าสนใจมีว่า “การระบาด” จะคุมไม่อยู่หรือไม่ หรืออดเป็นห่วงไม่ได้ว่าสถานการณ์นี้จะเหมือนเกาหลีใต้หรือเปล่า?
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำเตือนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยืนยันขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนมาตรวจหรือไม่
จำนวนที่เห็นอยู่น้อยนิดขณะนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มี “ผู้ติดเชื้อ”
...
เนื่องจาก 90% อาการน้อยมาก ดังนั้น จะไม่ทราบจำนวนคนที่ติดเชื้อจริง เพราะไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ และคนที่ติดเชื้อจะค่อยๆแพร่ไปสู่คนข้างๆ
และ 10% ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการที่ต้องเข้าโรงพยาบาล...แล้ว 10 ถึง 20% ของคนที่เข้าโรงพยาบาลจะมีอาการวิกฤติ
“การประกาศสถานการณ์รับมือของโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเรามีเวลาอีกสองเดือนที่จะเห็นสถานการณ์จริงโดยเตรียมพร้อมเตรียมแผนเคลื่อนคนป่วยธรรมดาไปไว้ที่อื่น เตรียมหมอและพยาบาลดูคนไข้ติดเชื้อ
และอุปกรณ์...เตรียมเตียงไอซียู เครื่องช่วยหายใจ และถ้าสถานการณ์เป็นระดับสามแพร่ทั่วไปโดยควบคุมไม่ได้ภายในสองเดือนนี้ คิดถึงโรงพยาบาลสนาม”
ดังนั้น สองเดือนนี้คือสองเดือนที่ประชาชนต้องป้องกันตนเองสูงสุด ใส่หน้ากากปิดปาก ปิดจมูก ระวังตา เมื่อเข้าไปในที่หนาแน่น ล้างมือบ่อยที่สุดด้วยแอลกอฮอล์ 70%...ต้องมีวิธีการให้พื้นที่สาธารณะและรถประจำทางทั่วประเทศไทยมีวิธีกำจัดเชื้อโดยเร็วที่สุด ถ้าทำสำเร็จในสองเดือนนี้เราจะไม่เห็นภาพที่น่ากลัว
และโรงพยาบาลทุกแห่งต้องกันไม่ให้มีผู้แพร่เชื้อได้เข้าไปสู่โรงพยาบาลติดเชื้อคนป่วยธรรมดาและบุคลากรทางการแพทย์โดยเด็ดขาด
ท่ามกลางวิกฤติความกังวล หวาดระแวง การท่องเที่ยวซบเซาอย่างหนักอาจจะเรียกได้ว่าวิกฤติหนักไปทุกหย่อมหญ้า ยังมีข่าวที่เป็นเหมือนกำลังใจเล็กๆให้มีความหวังอยู่บ้าง
สุรศักดิ์ สลีมีน ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำจังหวัดสตูล สัมภาษณ์ เจตกร หวันสู ประธานสภาการท่องเที่ยว อบจ.สตูล และเป็นผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก ผู้ประกอบการเรือทัวร์ สะท้อนสถานการณ์นี้ยังไม่วิกฤติหนัก
“สถานการณ์การท่องเที่ยวในจังหวัดสตูลช่วงนี้ไปจนถึงหลังสงกรานต์ยังไม่ส่งผลกระทบ” เจตกร ว่า “เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวทางทะเล โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามันในช่วงพีกสุด”
แต่...หลังจากกลางเดือนเมษายนหรือหลังสงกรานต์จะส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด
เจตกร มองว่า สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาพรวมทั่วโลกขณะนี้มีการเผยแพร่โรคช้า สภาพรวมค่อนข้างจะดีขึ้น คนป่วยได้รับการรักษามีโอกาสหายมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยมีการป้องกันและการรักษาดีมาก ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว
เชื่อว่า...อีกประมาณ 45-60 วัน น่าจะควบคุมสถานการณ์การระบาดได้
ส่วนปัญหาคือ...ต่อไปนี้คนจะไม่กล้าออกไปท่องเที่ยวเพราะต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยจากโรคภัยต่างๆจะทำให้ร้านค้า สถานประกอบการซบเซาจะมีผลต่อรายได้ของประชาชนโดยภาพรวม ล่าสุด...โดยเฉพาะภาคใต้และจังหวัดสตูลจะส่งผลกระทบจากการเมืองในประเทศมาเลเซียจะทำให้นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียลดน้อยลง
เพราะนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศมาเลเซียที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยปีละประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียจะมาเที่ยวประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้
“การเมืองในมาเลเซีย มีปัญหาส่งผลกระทบท่องเที่ยวภาคใต้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทั้งหมดยังต้องเจอกับสภาพเงินสดขาดมือ จะเกิดหนี้เสียมาก ทำธุรกิจไม่ได้ นอกจากรัฐบาลจะออกมาตรการให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว”
เอาเป็นว่า...ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่น่ากังวลนี้ แนะนำเป็นความรู้เพื่อการปฏิบัติตัวที่ดีว่า หาก สงสัยเป็น? “COVID–19”...อาการน้อย ให้แยกตัวอยู่บ้านควรจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด?
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬา สภากาชาดไทย บอกอีกว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในขณะนี้ว่า ไวรัสตัวนี้ติดง่ายและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าไวรัสธรรมดาทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันอาการความรุนแรงของโรคยังขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ได้รับ
และ...ระยะเวลาการสัมผัสระหว่าง “ผู้แพร่เชื้อ” กับ “ผู้รับ” ว่าจะนานเพียงใด
นอกจากนั้น ยังขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่รับเชื้อแล้วติดเชื้อไปอ่อนแออยู่แล้วโดยมีโรคประจำตัวหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวเลย ก็มีอาการรุนแรงได้เช่นกัน โดยขึ้นกับปัจจัยดังข้างต้นและอาจเกี่ยวพันกับปฏิกิริยาของร่างกายผู้นั้นต่อการติดเชื้อทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงเกินความจำเป็นและอาการหนัก
“ดังที่เห็นในบุคลากรทางสาธารณสุขไทยอายุน้อยที่ติดจากเจ้าหน้าที่ขายสินค้า คนไทยซึ่งแข็งแรงดี แต่ใกล้ชิดกับผู้ซื้อ ลูกค้าซึ่งเป็นชาว ต่างประเทศ โดยที่ลูกค้าไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆ”
ลักษณะธรรมชาติของการแพร่ดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดความยากลำบากในการให้การวินิจฉัย แยกกักตัว ทั้งนี้ การที่จะมาพบแพทย์ยังโรงพยาบาลจะเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งในการแพร่เชื้อให้ผู้ป่วยอื่นๆและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่อไปอีก
“การรับทราบว่าตนเองไม่สบายแต่เป็นเพียงแค่หนาวๆร้อนๆ ตัวรุมๆ แต่ยังสามารถพอใช้ชีวิตประจำวันได้ อาจจะแยกตัวอยู่บ้านและอยู่ห่างจากคนในครอบครัว ใส่หน้ากากปิดปาก ปิดจมูก แยกภาชนะเครื่องใช้และอาหารการกิน...จนกระทั่งอาการเป็นปกติทุกประการ”
แต่ในทางกลับกันถ้าอาการเลวลงจนอ่อนเพลีย ทั้งนี้ ไม่ต้องรอจนกระทั่งรู้สึกหายใจเหนื่อย ต้องไปโรงพยาบาลโดยแจ้งให้สถานพยาบาลนั้นๆ ทราบล่วงหน้าและส่งรถพยาบาลที่เตรียมพร้อมในการรับผู้ป่วยติดเชื้อ
...แต่พาหนะที่ใช้ ถ้าเป็นรถส่วนตัวหรือรถสาธารณะ เช่น แท็กซี่ ต้องบอกสถานะให้ผู้ขับทราบในการป้องกันตัวและทำความสะอาดตัวรถหลังจากนั้น
วิธีการนี้ในการแยกตัวอยู่บ้านเป็นวิธีที่ทำในประเทศจีนและเริ่มจะเป็นวิธีปฏิบัติในประเทศอังกฤษ...ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ วันที่ 14 ก.พ.2020 เนื่องจากมีปัญหาและมีภาระในการรับส่งผู้ป่วยมายังสถานพยาบาลและการที่จะต้องทำความสะอาดรถพยาบาล โดยใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง อีกทั้งยังสร้างความแออัดในโรงพยาบาล
ตอกย้ำให้เข้าใจตรงกันว่า...วิธีการเช่นนี้สามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ประจำถิ่นซึ่งก็มีการแพร่ในลักษณะเดียวกันกับ “COVID–19”
ตื่นตัว...แต่อย่าตื่นตูม ยึดหลักปฏิบัติส่วนบุคคลให้เป็นมาตรฐาน ป้องกันการระบาดแพร่เชื้อสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนส่วนรวม.