ความจำเป็นในการออกกฎกระทรวงห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ธุรกิจสุรามีการใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นตราสัญลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยยื่นจดทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มิใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่ม น้ำแร่ น้ำโซดาร่วมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ โดยมีเป้าหมายเพื่อหลบเลี่ยงพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีการควบคุมการโฆษณาเอาไว้ เป็นการหวังผลให้ผู้บริโภค เยาวชนนักดื่มหน้าใหม่ นึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นการแอบแฝงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาครัฐจึงควรเร่งออกมาตรการควบคุมการโฆษณาหรือการสื่อสารการตลาดของธุรกิจสุรา โดยใช้อำนาจตาม มาตรา 22 วรรคสอง (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เพื่อออกกฎกระทรวงฉบับใหม่
ปัจจุบันธุรกิจสุราได้สร้างกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ที่เรียกว่า surrogate advertisement/ marketing เพื่อหลบเลี่ยงที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยการนำตราสินค้า (brand) ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแก้ไขดัดแปลงบางส่วน เพื่อนำไปใช้ในสินค้าอื่นคือ กลุ่มน้ำดื่ม น้ำแร่ น้ำโซดา รวมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ โดยตราสินค้าเหล่านั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันมีการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะดังกล่าวต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้ธุรกิจสุราที่เป็นเจ้าของกิจการผลิตน้ำดื่ม น้ำโซดา ฯลฯ สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยอ้างว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภค ประชาชนทั่วไปรวมถึงเด็กและเยาวชน ซึ่งมักจะรับรู้ (awareness) และจดจำ (recall) ว่าป้ายโฆษณาน้ำดื่ม น้ำโซดา ฯลฯ นั้นเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลการศึกษาหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการรับรู้หรือความคิดเห็นของประชาชนต่อเครื่องหมายการค้าหรือสัญลักษณ์ของสินค้าที่คล้ายคลึงกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น รายงานการศึกษาของ ผศ.ดร. บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก ศึกษาวิจัยเรื่อง “การรับรู้ของประชาชนต่อการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านตราเสมือนหรือแบรนด์ดีเอ็นเอ และสัญลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน ปี 2561” โดยให้กลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 10 จังหวัด โดยให้กลุ่มตัวอย่างดูภาพ 30 ภาพที่เป็นตราสัญลักษณ์ที่คล้ายคลึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 65 รับรู้ว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 78 เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า ผู้เขียนเห็นว่า ตราสินค้าในกลุ่มน้ำดื่ม น้ำโซดา ฯลฯ ดังกล่าว ทำให้ประชาชนสับสน หรือหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้า เพราะไม่สามารถแยกแยะลักษณะของสินค้าได้ว่าเป็นเบียร์หรือน้ำดื่ม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าควรปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้หรือควรเพิกถอนเสีย
แนวทางการแก้ไขปัญหาการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคเบียร์ สุราของประชาชนให้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาสุขภาพ ความรุนแรง อาชญากรรมในสังคม คือการออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ตามมาตรา 22 วรรคสอง (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เพื่อห้ามการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันกับเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ที่ผ่านมารัฐบาลเคยใช้กลไกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางป้ายโฆษณาและในโรงภาพยนต์มาแล้วคือ “กฎกระทรวง ว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ในโรงภาพยนตร์และทางป้ายโฆษณา พ.ศ. 2547” รวมถึงยังมีการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 22 วรรคสอง (5) เพื่อจัดการปัญหาการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่มีการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ซึ่งถือเป็นการพนันประเภทหนึ่ง เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 เป็นกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่มีมาตรการควบคุมการโฆษณาด้วยการเสี่ยงโชค จึงต้องอาศัยกลไกตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
ในต่างประเทศ มีความริเริ่มศึกษาหรือริเริ่มการออกมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดมากขึ้น องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ก็เริ่มศึกษาเรื่องการจัดทำร่างกรอบอนุสัญญาเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ Framework Convention on Alcohol Control (FCAC) ทำนองเดียวกันกับ “กรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ” (WHO Framework Convention on Tobacco Control- FCTC)
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะให้ความสำคัญกับการพิจารณาออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อแก้ปัญหาการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่มีเครื่องหมายการค้าหรือสัญลักษณ์ของสินค้าที่คล้ายคลึงกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามป้ายโฆษณาและสื่อต่างๆ โดยเห็นแก่ผลประโยชน์และสุขภาพของประชาชน ปกป้องเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นที่ตั้ง