นับจากวันที่ 1 ม.ค.ไปอีก 13 วันคือ วันที่ 13 ม.ค. จะเป็นวันคิกออฟ (Kick off) โครงการยุวชนสร้างชาติ เพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาและบัณฑิตใหม่ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศให้เป็น “คนไทยยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21” ที่ถึงพร้อมด้วยสติปัญญา วุฒิภาวะทางอารมณ์และมีจิตสาธารณะ
อีกทั้งยังเป็นการลดภาวการณ์ว่างงานของบัณฑิตใหม่ท่ามกลางความผัวผวนทางด้านเศรษฐกิจ และรับมือสถานการณ์ “สึนามิดิจิทัล” หรือ “โลกป่วน” หรือ ดิสรัปชัน (Disruption) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดิสรัปต์ (Disrupt) ที่เกิดจากเทคโนโลยี ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมหาศาล ทั้งการปรับเปลี่ยนของอาชีพ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา บางอาชีพอาจจะหายไป รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะไม่ได้มีการจ้างงาน แต่จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนระบบ
ดิจิทัล หรือข้อมูล ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ด้วยการผุด 3 โครงการย่อย ประกอบด้วย 1.โครงการยุวชนอาสา 2.โครงการบัณฑิตอาสา และ 3.โครงการกองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น
โครงการยุวชนสร้างชาติถือเป็น “การลงทุนทางสังคม” ที่แม้จะไม่ใช่การลงทุนในเชิงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หรือนโยบายทางด้านการเงินการคลัง ที่สามารถวัดประเมินผลได้ด้วยตัวชี้วัดเชิงปริมาณ แต่โครงการยุวชนสร้างชาติคือ การขับเคลื่อนองคาพยพของทุกภาคส่วนเพื่อหล่อหลอมและจรรโลงจิตสำนึกสาธารณะความเป็นพลเมืองไทยและความภูมิใจในทรัพยากรของชาติให้บังเกิดขึ้นในยุวชนรุ่นใหม่
โครงการยุวชนสร้างชาติ มีเป้าหมายคือ นิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และบัณฑิตจบใหม่จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ
...
โครงการที่จะเริ่มต้นในวันที่ 13 ม.ค.2563 คือ โครงการบัณฑิตอาสา “จากทำเนียบรัฐบาลถึงกาฬสินธุ์” นำร่องโดยยุวชนอาสา 800 คน จาก 9 มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาสาชุดแรกจะไปเป็นแขกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ไปลงพื้นที่เพื่อนำองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาไปพัฒนาชนบทเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้าน
จากนั้นจะมียุวชนอาสาอีก 10,000 คน กระจายกันลงพื้นที่ในเดือน มี.ค.2563 ทั่วประเทศ
โครงการยุวชนอาสามีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ 1.เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำแบบเบ็ดเสร็จ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยอาศัยองค์ความรู้ ที่หลากหลายของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ 2.เพื่อปฏิรูประบบการเรียนรู้ของสถาบันอุดมศึกษาตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา
โดย “ยุวชนอาสา” จากหลากหลายสาขาวิชาทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะแบ่งกลุ่มละ 8-10 คน ใช้เวลา 1 ภาคเรียน ไปพำนักอาศัยในชุมชนต่างๆ เรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน และจัดทำโครงงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาและ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ซึ่งนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องได้รับการเทียบโอนหน่วยกิตเทียบเท่ากับการเรียนในชั้นเรียนทั้งหมด จำนวนประมาณ 9-15 หน่วยกิต และนั่นหมายถึงสถาบันอุดมศึกษาต้องปรับระบบการเรียนรู้และการวัดประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่น เน้นภาคปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ
ขณะที่โครงการซึ่งจะดำเนินการควบคู่กันคือ โครงการ “บัณฑิตอาสา” เริ่มคิกออฟเดือน มี.ค.2563 ต้องจ้างบัณฑิตที่จบไปแล้วแต่ไม่เกิน 3 ปี จำนวน 50,000 คน ไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ 1.เพื่อลดภาวะการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ 2.เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และ 3.เพื่อปฏิรูปบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บัณฑิตที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีมาแล้วไม่เกิน 3 ปี ซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่และทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 8-10 คน โดยแต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบพื้นที่ชุมชน 1 ชุมชน และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสำคัญคือ สมาชิกในกลุ่มทุกคนจะต้องพำนักอาศัยในชุมชนนั้นเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านและทำโครงงานตามที่ได้รับมอบหมายจากสถาบันอุดมศึกษาที่บัณฑิตอาสาได้ขึ้นทะเบียนไว้
“โครงการยุวชนอาสา และโครงการบัณฑิตอาสาได้ต้นแบบมาจากโครงการบัณฑิตอาสาสมัครของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่านักศึกษาชั้นปี 3 และ 4 ควรเรียนรู้จากโลกภายนอก ไม่ควรจะมาเรียนในห้องเรียนอีกต่อไป เพราะการได้ออกไปเห็นโลกภายนอก ไปเห็นความยากจน ไปเห็นพื้นที่ชนบท ได้ไปใช้ชีวิตร่วมคิดร่วมทำกับชาวบ้านจะได้เห็นชีวิตจริง ปัญหาจริง ทำให้พวกเขามีจิตสำนึกสาธารณะ เพราะว่า “ยุวชนอาสาและบัณฑิตอาสา” คือ ต้องเป็นจิตอาสาที่แท้จริง รู้จักเสียสละทำงานเพื่อผู้อื่นและประเทศชาติ ซึ่งถึงแม้จะมีค่าตอบแทนที่หลายคนอาจวิพากษ์วิจารณ์ว่าน้อยเกินไป ไม่คุ้มกับความยากลำบากในชนบท ก็ต้องพึงระลึกถึงคำว่า “อาสา” ไว้ด้วย
นอกจากนั้น อว.ยังจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะ เช่น Design Thinking หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบสำหรับพัฒนานวัตกรรมที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์และการคิดเชิงธุรกิจ และทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับบัณฑิตจบใหม่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นระยะ 2 เดือนก่อนลงพื้นที่ชุมชน พูดง่ายๆ ติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กก่อนที่จะส่งตัวลงพื้นที่ชนบทเพื่อฝึกวิทยายุทธ์ในสถานการณ์จริง ชีวิตจริง ปัญหาจริง โครงการนี้จะเป็นทั้งมาตรการพยุงสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางในปีหน้าคือ 2563 และยังถือเป็นการลงทุนทางสังคมด้วย เพราะทั้งช่วยลดอัตราการว่างงาน ช่วยหยิบยื่นโอกาสให้เด็กจบใหม่ได้เรียนรู้จริง และช่วย ปลูกฝังความเสียสละและความเป็นจิตอาสาให้แก่คนรุ่นใหม่ เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวตามแนวคิด “ทำน้อยได้มาก” ของไทยแลนด์ 4.0” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ เจ้าของโครงการกล่าว
โครงการบัณฑิตอาสาและยุวชนอาสาจะมีกระบวนการคัดกรองเพื่อให้ได้คนที่มี “จิตอาสา” ที่พร้อมทำงานให้กับชุมชน ชาวบ้านอย่างแท้จริง
ที่จริงแล้ว โครงการบัณฑิตอาสา และ โครงการยุวชนอาสา ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างสหรัฐฯ และสาธารณรัฐประชาชนจีน
ย้อนหลับไปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วยุโรปและสหรัฐฯ ในสหรัฐฯประเทศเดียวมีคนตกงานมากกว่า 15 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรในขณะนั้น จนทำให้ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี .รูสเวลต์ ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ โครงการ New Deal และที่เป็นต้นตำรับของบัณฑิตอาสาคือ โครงการ Civilian Conservation Corps (CCC) ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จ้างคนวัยหนุ่มอายุระหว่าง 18-25 ปีมากกว่า 500,000 คน ให้ปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและถนนหนทางในชนบทที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
ต่อมาก็มีโครงการที่คล้ายกับ CCC ก็มีอีกหลายโครงการเกิดขึ้น ภายใต้แนวคิดเดียวกันคือ การหยิบยื่น “โอกาส” และ “งาน” ให้แก่อเมริกันชนวัยหนุ่มสาว
สำหรับโครงการยุวชนอาสาในสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มต้นจากนโยบาย “ขึ้นเขาลงชุมชน” ของ ท่านประธานเหมา เจ๋อตุง ที่ส่งคนวัยหนุ่มสาว 17 ล้านคน ไปทำงานและเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตในพื้นที่ชนบทและชายแดนของประเทศ แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้คนวัยหนุ่มสาวขาดโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่ “สร้าง” ผู้นำจีนหลายท่านในปัจจุบัน แม้กระทั่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็เคยเข้าร่วม “ขึ้นเขาลงชุมชน” เป็นเวลาหลายปี
“แม้ประเทศสหรัฐฯ และจีนจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ล้วนมีนโยบายส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสสัมผัส “ชีวิตจริง” เพื่อเรียนรู้ “ทักษะชีวิต” และเรียนรู้ “ความเสียสละเพื่อผู้อื่น” โครงการบัณฑิตอาสาและยุวชนอาสาจึงไม่ใช่แค่ “แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ” แต่จะเป็นการลงทุนทางสังคมที่จะทำให้ “คนรุ่นใหม่” เป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” อย่างสร้างสรรค์ และเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง จนเกิด “We” Society หรือสังคมของพวกเรา แทนที่ “Me” Society หรือสังคมของพวกฉัน ไม่แน่ว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า เราอาจจะเห็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เป็นน้องๆศิษย์เก่าของโครงการบัณฑิตอาสาของ อว.ก็ได้” รมว.อว.กล่าว
ส่วน “กองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น” หรือ “กองทุนยุวสตาร์ตอัพ” คือ อีกโครงการหนึ่งที่ อว.ต้องการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาจากสถาบันทางวิชาการมาเป็น “สถาบันบ่มเพาะผู้ประกอบการแห่งอนาคต” ที่จะสร้างนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการ
“เราเชื่อว่าเยาวชนคือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศ กองทุนยุวสตาร์ตอัพจึงเกิดขึ้น มีทุนเริ่มต้น 100 ล้านบาท ปรากฏว่าธนาคารออมสินเห็นว่าโครงการกองทุนยุวชนสตาร์ตอัพดี เลยมอบให้มาอีก 500 ล้านบาท เป็น 600 ล้านบาท จะนำไอเดียดีๆของนักศึกษาที่ต้องการทำธุรกิจเพื่อสังคมมาทำร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ทำสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ให้นักศึกษาลงไปทำชุมชนให้เป็นสตาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือทำร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่มีโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน ที่พัฒนามาจาก 1 ไร่ 1 แสน แต่จริงๆแล้วมีพืชอีกหลายตัวที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้แล้วบริหารจัดการดีๆ ใช้เทคโนโลยีดีๆ จะไปถึง 1 ไร่ 1 ล้านได้ โดยใช้กลไกของมหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคล ทำร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า คอยดูดาวเทียมการจัดโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ดูเรื่องน้ำพร้อมกับใช้ TP MAP หรือบิ๊กดาต้า ที่มีข้อมูลพื้นที่ยากจนถึงขนาดรู้เลยว่าตำบลใดยากจนที่สุด ที่สำคัญนักศึกษากลุ่มนี้ยังจะต้องทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในเรื่องของทำอย่างไรให้เป็นเกษตรปลอดภัย โดยใช้กองทุนยุวสตาร์ตอัพ” ดร.สุวิทย์ ระบุ
“ทีมข่าวสังคม” มองว่า โครงการยุวชนสร้างชาติ ที่ดำเนินการผ่าน 3 โครงการย่อยจะเป็นทั้งมาตรการพยุงสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางในปี 2563 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จะมีบัณฑิตตกงาน ประมาณ 5 แสนคน ด้วยการดึงบัณฑิตตกงานออกมาช่วย 5 หมื่นคน หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ ทำงาน 1 ปี ได้คนละ 15,000 บาท ถือเป็นการลดภาระให้กับสังคมและยังถือเป็นการลงทุนทางสังคมด้วย เพราะทั้งช่วย ลดอัตราการว่างงาน และช่วยหยิบยื่นโอกาสให้เด็กจบใหม่ได้เรียนรู้จริง
ทั้งเรายังเห็นด้วยว่า โครงการยุวชนสร้างชาติ ไม่ใช่แค่ “แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ” แต่จะเป็นการลงทุนทางสังคมที่จะทำให้ “คนรุ่นใหม่” เป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” อย่างสร้างสรรค์ และเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง
แต่ที่เราต้องขอฝากทุกภาคส่วนที่ดูแลทั้ง 3 โครงการคือ ต้องมีความจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่อง
คงน่าเสียดายหากโครงการดีๆจะต้องมาสะดุด หรือล้มลงในภาคปฏิบัติ เพียงเพราะไม่ละเอียดถี่ถ้วน หรือทำงานแบบขี่ช้างจับตั๊กแตน และปล่อยโครงการให้ไปอยู่ในมือคนที่คิดแต่จะแสวงหาประโยชน์จากโครงการยุวชนสร้างชาติ.
ทีมข่าวสังคม