รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) เผยถึงสถานการณ์ราคาข้าวเหนียวในประเทศไทย ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีราคาปรับตัวสูงมาโดยตลอดว่า สาเหตุหลักๆ เนื่องมาจากบ้านเราไม่มีนโยบายส่งเสริมเรื่องข้าวเหนียวที่ชัดเจน ไม่เหมือนข้าวเจ้า เลยทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกเพื่อการบริโภคกันเองเป็นหลัก มีเหลือถึงนำมาขายป้อนตลาด โดยมีตลาดหลักอยู่ในประเทศ 80% และส่งออก 20% ไม่เหมือนข้าวเจ้าที่มีตลาดในประเทศ 50% อีกครึ่งป้อนตลาดต่างประเทศ

...

“ที่ผ่านมารัฐไม่เคยมีนโยบายส่งเสริมเปิดตลาดข้าวเหนียวในต่างประเทศอย่างจริงจัง ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมยังมีโครงการรับจำนำ โครงการประกันรายได้ มาจูงใจให้ชาวนาปลูกข้าวหอมมะลิ แต่ข้าวเหนียวไม่มีโครงการเหล่านี้ เลยทำให้พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวถูกปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวหอมมะลิ พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวลดลง ผลผลิตน้อยลง แถมคนปลูกข้าวเหนียวยังจะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน และแบ่งไว้บางส่วนสำหรับขายเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ข้าวเหนียวอยู่ในภาวะขาดตลาด ราคาจึงมีแต่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าปี 2563-2564 ราคาซื้อขายข้าวเหนียวทั้งในประเทศและตลาดส่งออกจะปรับสูงต่อไปอย่างนี้อีก”

รศ.สมพร บอกว่า ถ้ารัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องเข้ามาอย่างจริงจัง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ไม่ไวแสงให้มากขึ้นควบคู่กับการดูแลตลาด ที่สำคัญรัฐต้องยุติการแทรกแซงราคา แล้วปล่อยให้เป็นกลไกของตลาดขับเคลื่อนไปเองตามธรรมชาติ วิธีนี้จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอยู่ได้ เหมือนเวียดนามที่ไม่เคยมีการแทรกแซงกลไกตลาดราคาข้าวใดๆเลย จนวันนี้ได้กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวเหนียวมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่เป็นข้าวเหนียวคุณภาพระดับกลาง ราคาอยู่ที่ตันละ 360-400 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ข้าวเหนียวเกรดพรีเมียมของไทย ราคาตันละ 800-900 เหรียญสหรัฐฯ.