น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาโรงพยาบาลเอกชนเก็บค่ารักษาพยาบาลแพง ว่า เรื่องการแก้ปัญหาค่ารักษาแพง ที่กระทรวงพาณิชย์ทำอยู่คือ การให้ รพ.เอกชน ติดป้ายราคาให้ประชาชนทราบ การขอข้อมูลต้นทุนค่ารักษาพยาบาล เพื่อนำมาจัดทำฐานข้อมูล และจัดแบ่งกลุ่ม รพ.เอกชนตามเรตค่ารักษาเพื่อให้ประชาชนทราบประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้ารับการรักษาใน รพ.นั้นๆหรือไม่
แต่เอาเข้าจริงบางครั้งเราไม่มีโอกาสได้เลือก เพราะต้องเข้า รพ.แบบฉุกเฉิน ตรงนี้นับว่าเป็นปัญหามาก และตัวเลขของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่รวบรวมไว้ในระยะ 22 เดือนล่าสุด พบว่ามีประชาชนจากทุกสิทธิการรักษาพยาบาลถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาด้วยภาวะฉุกเฉินประมาณ 3.56 แสนคน แต่ในจำนวนนี้ พบว่ามีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่เข้าข่ายได้รับการรักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรกตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุกที่ ดีทุกสิทธิ และอยากให้มีการจัดทำราคากลางค่ารักษาพยาบาลด้วย
“กว่าร้อยละ 84 ถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาเอง ซึ่งแพงมาก โรงพยาบาลก็คิดค่ารักษาตามเรตของแต่ละ รพ.ในส่วนนี้เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนที่ถูกส่งตัวเพราะอาการฉุกเฉิน แม้จะไม่ใช้ฉุกเฉินวิกฤติสีแดงก็ให้เขาจ่ายในเรตเดียวกับวิกฤติสีแดง” น.ส. สารีกล่าวและว่า ขณะนี้พบว่าคนที่เข้ารักษาใน รพ.เอกชน ค่าอาหารแค่ 1 วันสูงถึง 1.2 พันบาทคือพอคุมราคายาก็ไปโป่งตรงอื่น ดังนั้น ต้องดูแลทั้งหมด และทราบว่าขณะนี้แพทยสภาได้จัดทำอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ฉบับใหม่ ซึ่งแพงมาก ขนาดกรรมการแพทยสภาบางคนเห็นยังตกใจ ตนได้ทำหนังสือขอทราบอัตราค่ารักษาพยาบาลฉบับใหม่แล้ว.