ศาลปกครองกลางพิพากษา รมว.ศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งประเทศ ทำผิดระเบียบ กระทรวงเรื่องการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้มาตั้งแต่ปี 2551 ที่มีข้าราชการครูและบุคลากรเดือดร้อนกันถ้วนหน้า สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
วันที่ 26 ก.ย. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ รมว.ศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลหรือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการหักเงินเดือน หรือเงินบำเหน็จบำนาญ ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 กับให้ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งหัวหน้าสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของระเบียบดังกล่าว โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
คดีนี้ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีหนี้สินวิกฤติจากทั่วประเทศ 162 คน ยื่นฟ้อง รมว.ศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561 ว่า รมว.ศึกษาธิการกับพวกตามคำฟ้อง ร่วมกันหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อการชำระหนี้สินเงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ ในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้กู้จะต้องมีเงินเหลือจากการหักชำระหนี้ ณ ที่จ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของอัตราเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญที่ได้รับ ทำให้ข้าราชการครูทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อน มีภาวะหนี้สินวิกฤติ กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และการดำรงชีพของข้าราชการครู ตลอดจนระบบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ
...
ศาลให้เหตุผลว่า หลังจากที่ได้มีการออกระเบียบดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เสนอให้ออกระเบียบ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2551 แจ้งระเบียบให้หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทราบ แต่ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หัวหน้าสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการยังคงหักเงินเดือนและเงินบำนาญของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่ละรายไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ทำให้ผู้ถูกหักเงินแต่ละรายมีเงินเหลือหลังหักชำระหนี้แล้วน้อยกว่าร้อยละ 30 แสดงให้เห็นถึงการที่ผู้บังคับบัญชาละเลยต่อการปฏิบัติตามระเบียบฯ รมว.ศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการ สพฐ. ต่างให้การรับต่อศาลว่า มิได้ตรวจสอบหรือดำเนินการเพื่อให้มีการปฏิบัติตามระเบียบแต่อย่างใด เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงพิพากษาให้ทั้งหมดปฏิบัติตามระเบียบ