แพทย์เตือนสายเฮลตี้ ไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่โหมทีเดียวหนักๆ เสี่ยงเสียชีวิต ยิ่งเป็นคนมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจ ไต และเมตาบอลิก แนะสังเกต 9 อาการสำคัญ

นายแพทย์ อี๊ด ลประยูร ที่ปรึกษาอนุสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์คำแนะนำ ผ่านเฟซบุ๊ก "Ead Lorprayoon" เกี่ยวกับการระวังตัวสำหรับนักกีฬาสมัครเล่น หลังพบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน  โดยระบุว่า สำหรับคนที่อายุเกิน 45 เวลาออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่งระยะไกล เล่นเทนนิส เล่นแบดมินตัน เล่นฟุตบอล โดยเฉพาะเวลาเร่งความเร็วหรือความแรงในช่วงสั้นๆ ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าคนหนุ่มสาว แต่ผู้ใหญ่ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลวในขณะออกกำลังกายอย่างหนัก ยังน้อยกว่าผู้ใหญ่ที่ไม่ออกกำลังกายมาก จึงไม่เป็นข้อห้ามที่จะเริ่มออกกำลังกายไม่ว่าหนักหรือเบา

ซึ่งสิ่งที่ควรทำอย่างแรก คือ ประเมินตนเองก่อนเลยว่า ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าไม่สามารถทำได้ อยู่ดีๆ จะไปออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่งระยะไกล โอกาสเสียชีวิตก็จะมาก “กรุณาอย่าทำ”

และหากไม่ได้เป็นคนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คือ ช่วงสามเดือนที่ผ่านมาได้ออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายแบบเบาหรือปานกลางจะปลอดภัยกว่า ถ้าทำได้จนเป็นประจำสม่ำเสมอแล้ว จึงค่อยไปเพิ่มระยะทางทีละน้อย เพื่อไปวิ่งไกลๆ

...

แต่ถึงแม้จะออกกำลังกายประจำ แต่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด, เมตาบอลิก หรือโรคไต แต่ยังไม่มีอาการผิดปกติอะไร ถ้าออกกำลังกายปานกลางทำได้สบาย แต่ถ้าจะออกกำลังกายหนัก เช่น วิ่งมาราธอน ควรตรวจร่างกาย หรือปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ คำว่า "หนัก" สำหรับการออกกำลังกาย คือ เมื่ออัตราการเต้นของหัวใจขึ้นไปสูงระหว่าง 77-95% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (220-อายุ), มากกว่าหรือเท่ากับ 60% ของ Heart rate reserve หรือ VO2max, มากกว่าหรือเท่ากับ 6 Mets, หรือมากกว่า 14 ใน RPE Borg's Scale (6-20) โปรดระลึกไว้เสมอว่าถ้าฟิตไม่พอ จะออกกำลังยังไงก็ได้ ขออย่าปล่อยให้อัตราการเต้นของหัวใจพุ่งขึ้นไปสูงถึงจุดนี้ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงตาย

พร้อมแนะให้สังเกต 9 อาการสำคัญ ได้แก่ 1.ปวดแน่นแบบบีบรัดที่หน้าอก, คอ, กรามแขน หรือที่อื่นๆ ที่เกี่ยวกับหัวใจขาดเลือด 2.หายใจตื้นๆ ไม่อิ่ม เวลาอยู่เฉยๆ หรือออกกำลังแม้เพียงเล็กน้อย 3.เป็นลม หรือมึนงงระหว่างออกกำลัง 4.หายใจลำบาก โดยเฉพาะเวลานอนราบ 5.ข้อเท้าบวม 6.ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว 7.ปวดขาปวดน่องเวลาเดิน หรือขึ้นบันได 8.ตรวจพบมีเสียงรั่วในลิ้นหัวใจ 9.เมื่อยล้าผิดปกติ หรือหายใจไม่พอ แม้ขณะทำงานปกติ.

(อ่านโพสต์ต้นฉบับ ที่นี่)

ที่มาจาก เฟซบุ๊ก  Ead Lorprayoon