ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง หัวหน้าสาขาโลหิตวิทยา และโรคมะเร็ง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับโลหิตวิทยา อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคธาลัสซีเมีย และไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น โดยทั่วโลกให้การยอมรับ ในอดีตเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจะนำมาจากไขกระดูกเท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมาจากหลอดเลือดและรกได้ การรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมีค่าใช้จ่ายสูงอยู่ที่รายละ 1-3 ล้านบาท โดยจุดเริ่มต้นของสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เริ่มมาประมาณ 10 ปีที่แล้วในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากเป็นการรักษาที่ต้องต่อเนื่อง ภายหลังจากการให้เคมีบำบัด โดยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตสามารถรับการรักษาได้ตามสิทธิบัตรทองที่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ โดยจำกัดเฉพาะกรณีที่ผู้บริจาคเป็นญาติพี่น้องผู้ป่วยเท่านั้น

ศ.นพ.สุรเดช กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในปี 2563 เพื่อให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้ขยายสิทธิให้ครอบคลุมการปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์ของผู้บริจาคผ่านสภากาชาดไทย เนื่องจากผู้บริจาคต้อง มีเนื้อเยื่อ เอชแอลเอ ตรงกันกับผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้บริจาคเป็นญาติพี่น้อง โอกาสที่เนื้อเยื่อนี้จะตรงกันมีเพียง 25% แต่หากขยายครอบคลุมถึงผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ โอกาสหาผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อตรงกับผู้ป่วยมีถึง 40-50% นอกจากนี้ในปี 2563 สปสช.ได้ขยายสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตให้ครอบคลุมการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย โดยขณะที่การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตครั้งเดียวมีโอกาสหายขาดได้ถึง 90%.

...