เอาหวานไหมคะ หวานเท่าไรคะ หวานน้อยค่ะ.....ความหวานอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เห็นได้จากอาหารไทย และขนมไทยโบราณ มักจะออกรสชาติหวาน ละมุนลิ้น แม้ปัจจุบันมีวิธีการรับประทานอาหารของคนไทยจะแตกต่างจากสมัยก่อน

โดยเฉพาะการรับวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามา ทำให้ขนมและอาหารในประเทศไทยถูกดัดแปลง ปรุงแต่งไปด้วยความหวาน และเพราะอาหารที่มักได้รับความนิยมส่วนใหญ่จะมีรสชาติหวาน ตามธรรมชาติ คนเรามักจะชอบทานรสหวานมากกว่ารสอื่นๆ  เป็นพิเศษ เพราะจะรู้สึกว่าทานของหวานแล้วปลอดภัย แถมรสหวานยังถูกปาก ทานเข้าไปแล้วรู้สึกดีอีกด้วย

คุณอยากหวานไหม

นายแพทย์อรุณ คงชู อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า อาการอยากของหวานอยู่บ่อยๆ ที่เรียกว่า Sugar craving เป็นภาวะที่ร่างกายอยากทานของหวาน โดยจะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ต้องการของหวานจริงๆ เช่น คนที่มีน้ำตาลต่ำจากภาวะต่างๆ เช่น การรักษาเบาหวานด้วยยาบางชนิด คนที่มีอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เผาผลาญน้ำตาลเยอะไป น้ำตาลหรือฮอร์โมนบางตัวต่ำ เป็นต้น

...

ส่วนอีกกลุ่ม คือ คนไม่ได้เป็นโรคตามที่กล่าวข้างต้น แต่มีภาวะ Sugar craving หรืออาการอยากของหวาน มักจะเกิดจากอารมณ์ ความรู้สึกที่อยากจะทานของหวาน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีน้ำตาลต่ำ กลุ่มนี้พอได้รับของหวานแล้วจะทำให้มีความรู้สึกดี มีการเรียนรู้เรื่อยมาว่าทำแบบนี้แล้วรู้สึกดีขึ้น ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้จะพบเป็นส่วนใหญ่

อยากหวานเพราะสมองสั่งมา

นายแพทย์อรุณ อธิบายว่า ภาวะอยากทานของหวาน เป็นกลไกของสมองและร่างกายอย่างหนึ่ง เนื่องจากเราเกิดการเรียนรู้มาตลอดว่าได้รับของหวานเข้าไปแล้วจะรู้สึกดี คล้ายอาการติดยาเสพติด แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งสมองมีการรับรู้ให้หลั่งสารบางอย่างที่ทำให้รู้สึกดีหลังจากทานเข้าไป เช่น โดพามีน ซึ่งเป็นสารที่จะหลั่งออกมาเมื่อเราพบเจอหรือมีพฤติกรรมที่พึงพอใจ และเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารที่ควบคุมสภาพอารมณ์ สารเหล่านี้ถูกกระตุ้นได้ง่าย

เมื่อเกิดการเรียนรู้เรื่อยๆ เมื่อร่างกายเกิดกลไกนี้ขึ้น โดยเฉพาะการได้รับการเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็กที่ได้กินของหวานมาตลอด หรือสิ่งแวดล้อมที่หาของหวานกินได้ง่ายๆ พอรับเข้าไปแล้วรู้สึกพึงพอใจ พอไม่ได้รับจะรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี กระวนกระวาย สมาธิไม่นิ่ง เป็นต้น

กลุ่มคนที่มีภาวะเครียด จะส่งผลต่อฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่มาจากต่อมหมวกไต มีหน้าที่ตอบสนองต่อความเครียด พอฮอร์โมนนี้เยอะขึ้นก็มักอยากทานของหวานเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งหญิงที่เป็นประจำเดือน ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน ทำให้มีความอยากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต คือ พวกน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง

น้ำผลไม้แฝงด้วยน้ำตาล


อาหารยอดนิยมนอกจากชานมไข่มุกที่กำลังเป็นเทรนด์ในตอนนี้แล้ว ยังมีเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ บิงซู ฮันนี่โทสต์ เค้ก ช็อกโกแลต ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง และที่สำคัญที่คนมักจะไม่รู้ คือ น้ำผลไม้ เพราะคิดว่ามีประโยชน์ แต่หากอ่านฉลากดีๆ จะเห็นว่า น้ำผลไม้ก็มีน้ำตาลสูงไม่แพ้เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ทางที่ดีควรกินเป็นผลไม้สด จะได้กากใยและวิตามินครบถ้วนกว่า


สำหรับประเทศไทย คำแนะนำทางโภชนาการ คือ คนเราควรได้รับน้ำตาลเฉลี่ยแล้ววันละไม่เกิน 6 ช้อนชา สำหรับคนที่ต้องการพลังงาน 2,000 แคลอรี่ ทั้งนี้สามารถยืดหยุ่นให้เหมาะสมต่อพลังงานที่ได้รับได้ แต่ทางที่ดีควรทานน้ำตาลให้น้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า น้ำตาลที่เติมไปในอาหาร ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้คนเราได้รับพลังงานไม่เท่ากัน เพศและวัย การใช้แรงงานในแต่ละวัน ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น

กินน้ำตาลเทียมระวังดื้ออินซูลิน

ปัจจุบัน กระแสดูแลตัวเองค่อนข้างมาแรง คนส่วนใหญ่มักจะหันไปบริโภคสารให้ความหวานประเภทน้ำตาลเทียมแทนน้ำตาลปกติ โดยสารนี้จะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น เหมาะสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาล แต่ข้อเสียคือหากใช้นานๆ จะเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนตามมาได้

คุณติดหวานไหม

นายแพทย์อรุณ กล่าวอีกว่า วิธีสำรวจตัวเองว่าติดหวานหรือไม่นั้น ต้องอาศัยหลายวิธีควบคู่กันไป เช่น เวลาปรุงอาหารมักจะเติมน้ำตาลอยู่เสมอ เลือกดื่มน้ำหวานอื่นแทนน้ำเปล่า เลือกทานผลไม้ที่มีรสหวาน หรือมีความคิดที่อยากจะทานของหวานอยู่เรื่อยๆ บางคนไม่ได้ทานของหวานจะรู้สึกหงุดหงิด ซึม สมาธิไม่ค่อยดี มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่สนใจลด

แม้กระทั่งชอบไปตามงานเลี้ยงเพราะมีของกินเยอะ หากติดหวานแล้ว จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ปริมาณน้ำตาลจะเพิ่มขึ้น มีภาวะอ้วนง่าย ไขมันบางประเภทในเลือด เช่น ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดจะสูงขึ้น เสียค่าใช้จ่ายในด้านการกิน

ส่วนทางอ้อม จะส่งผลให้เป็นโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันสูงขึ้น ไขมันเกาะตับ โรคอ้วน ซึ่งส่งผลอ้อมไปอีกทีให้เป็นโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง 


อย่าหักดิบความหวาน เพราะล้มเหลวง่าย

กลุ่มคนที่ต้องการลดปริมาณน้ำตาล ไม่ควรลดแบบหักดิบ เพราะจะล้มเหลวง่าย ค่อยๆ ลดลงจนร่างกายสามารถรับน้ำตาลได้น้อยที่สุด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทาน เช่น คาร์โบไฮเตรต เปลี่ยนมาทานข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ผลไม้สดที่มีน้ำตาลต่ำ อาหารควรจะมีเส้นใยสูง เช่น ถั่ว ผัก และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพราะบางคนมีภาวะขาดน้ำก็จะเกิดอาการอยากของหวาน ลดการซื้ออาหารมาเก็บไว้เยอะๆ เพราะพอเก็บไว้แล้วก็จะเอามากินเนื่องจากเสียดาย จดบันทึกพฤติกรรมการกินในแต่ละวัน ควรอ่านฉลากโภชนาการให้เป็น ทำกิจกรรมที่เบี่ยงเบนความสนใจไม่ให้หมกมุ่นกับการกิน และหมั่นออกกำลังกาย.