เกษตรกรไทยมีความเชี่ยวชาญการเพาะพืชเกษตรมากขึ้น สามารถควบคุมผลผลิตได้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งปริมาณ คุณภาพ และสามารถบังคับกำหนดช่วงเวลาให้ผลผลิตออกมาในช่วงต่างๆได้
ทำให้ทุกวันนี้ผลผลิตการเกษตรบ้านเรา มีให้เลือกบริโภคกันได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องรอให้ถึงฤดูกาลอย่างเช่น ยอดมะพร้าวอ่อนปัจจุบันชาวสวนหันมาปลูก เพื่อตัดยอดอ่อนขายกันโดยเฉพาะ เราจึงหาซื้อยอดมะพร้าวอ่อนมาปรุงอาหารทานได้ตลอด
‘ยอดมะพร้าวอ่อน’ มีคุณค่าทางอาหารมากมาย ยอดมะพร้าวอ่อน 100 กรัม ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี โปรตีน 2.0 กรัม ไขมัน 0.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 7.6 กรัม แคลเซียม 58 มิลลิกรัม และฟอสฟอรัส 53 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี และไนอาซีน
ยอดมะพร้าวอ่อนตามธรรมชาติ หลังตัดมาใหม่ๆจะมีสีขาวนวล แต่หากทิ้งไว้นาน ผิวยอดมะพร้าวจะเริ่มคล้ำและเข้มขึ้นไม่ชวนกิน ผู้ขายจึงมักนำยอดมะพร้าวอ่อนไปแช่สาร ‘ฟอกขาว’ (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) เพื่อให้สียอดมะพร้าวขาวเสมือนตัดยอดมาใหม่ๆ
สำหรับการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในผัก ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 389 พ.ศ. 2562 อนุญาตให้ใช้ได้ แต่สามารถใช้ได้ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เพราะหากมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย มีผลไปลดประสิทธิภาพการใช้ไขมันและโปรตีนในร่างกาย ทําลายวิตามินบี 1 ในอาหาร
หากสารดังกล่าวสะสมในร่างกายมากๆ อาจทําให้หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน หมดสติ ส่วนผู้ป่วยโรคหอบหืด จะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นและหลอดลมตีบได้
...
วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างยอดมะพร้าวอ่อน จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 แผงลอย ในตลาดสดในเขตกรุงเทพฯ นำมาวิเคราะห์สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง เป็นที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง เพราะผลวิเคราะห์ยอดมะพร้าวอ่อน มีอยู่ 4 ตัวอย่าง ที่พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปริมาณเกินค่ามาตรฐาน
ฉะนั้นควรเลือกซื้อยอดมะพร้าวอ่อนทีสีใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่ขาวเกิน ล้างให้สะอาดและปรุงให้สุก เพราะสารฟอกขาวจะถูกทำลายด้วยความร้อน.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย