“ประกันสังคม” คือ ระบบสวัสดิการจากภาครัฐรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนและผลักดันให้คนทำงานทุกคนสามารถมุ่งมั่นกับหน้าที่ตนเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง สามารถวางใจได้ทุกครั้งที่เจ็บป่วย หรือแม้กระทั่งเมื่อว่างงาน หรือถึงยามเกษียณ

ทั้งนี้เพื่อความสามารถในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อเสถียรภาพที่มั่นคงอย่างยั่งยืน ทางด้านสำนักงานประกันสังคมจึงได้ขอรุดหน้าพัฒนารูปแบบการดำเนินการของสำนักงานไปอีกขั้น ด้วยการเข้าไปจับมือกับกรมบังคับคดี ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้ล้มละลาย โดยได้มีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ อาคารกรมบังคับคดี กรุงเทพฯ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในพิธีร่วมลงนามว่า “สำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการบริหารการประกันสังคมและเงินทดแทน เพื่อให้แรงงานมีหลักประกันการดำรงชีวิตที่มั่นคงโดยการบริหารการจัดเก็บเงินสมทบ และการจ่ายประโยชน์ทดแทนที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นภารกิจหลักในการบริหารกองทุนประกันสังคม แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้สถานประกอบการบางแห่งในระบบประกันสังคม ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพของกองทุนและการจ่ายประโยชน์ทดแทนต่อผู้ประกันตน”

“ดังนั้น สำนักงานประกันสังคม จึงมีความจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือพิพากษาให้ล้มละลาย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่าง สำนักงานประกันสังคมและกรมบังคับคดี ในครั้งนี้เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้ล้มละลายผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้รวดเร็ว และสมบูรณ์ถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกรอบกฎหมาย ยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ”

นอกจากนั้น นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองอธิบดีกรมบังคับคดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี ยังได้กล่าวอีกว่า “การร่วมมือกันระหว่างกรมบังคับคดีและสำนักงานประกันสังคม ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมและกรมบังคับคดี เล็งเห็นความสำคัญของข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือพิพากษาให้ล้มละลาย อันถือเป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถเปิดเผยได้ อันสืบเนื่องมาจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปัจจุบัน กรมบังคับคดี ได้เผยแพร่ข้อมูลของบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือพิพากษาให้ล้มละลาย ให้ประชาชนทั่วไปทำการตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี เนื่องจากบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือพิพากษาให้ล้มละลาย บุคคลเหล่านั้นจะไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง เพราะอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่วิธีการดังกล่าวยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการ และการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของทั้ง 2 หน่วยงานให้เกิดความรวดเร็ว สมบูรณ์ ถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยสำนักงานประกันสังคม จะนำข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือพิพากษาให้ล้มละลาย ที่อยู่ในขั้นตอนการติดตามเร่งรัดหนี้ การอุทธรณ์ การใช้มาตรการบังคับทางปกครอง การดำเนินคดี และการดำเนินการอื่นใด ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม มาตรวจสอบยืนยันกับข้อมูลในฐานข้อมูลของกรมบังคับคดี เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความสามารถในการดำเนินการต่างๆ และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมเป็นไปตามกฎหมายต่อไป”

กล่าวได้ว่า ในยุคไทยแลนด์ 4.0 เช่นนี้ หน่วยงานของภาครัฐแต่ละหน่วยงานเองก็มีการพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงานกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ นำเอาเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาสนับสนุนการทำงานเพื่อลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง