เมื่อวันที่ (27 มิถุนายน 2562) นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดำเนินโครงการมหิงสาสายสืบปฐมวัย ประจำปี 2562 รุ่นที่ 2 ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27 - 28 มิถุนายน ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร เพื่อให้พี่เลี้ยงหรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการมีความเข้าใจในหลักการและวัตถุประสงค์ ตลอดจนแนวทางการดำเนินโครงการ รูปแบบและแนวทางการจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก ที่สามารถนำไปปรับใช้ ในกระบวนการเรียนการสอนหรือการจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มีการศึกษาและ ข้อยืนยันทางวิชาการว่า ช่วง “ปฐมวัย” หรือช่วงขวบปีแรกๆ ของชีวิต ถือเป็นช่วงเวลาทองของการสร้างเสริม ปลูกฝัง และวางรากฐานพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับเด็ก โดยเฉพาะทางด้านสติปัญญา บุคลิกภาพ และการพัฒนาพฤติกรรมที่ดีต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ อันจะส่งผลต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป อีกทั้ง ประสบการณ์การเรียนรู้ ในช่วงเด็กปฐมวัย ยังจะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ไปสู่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต นอกจากนี้ การส่งเสริมให้พวกเขาสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองจากการลงมือปฏิบัติ และนำความรู้ไปสร้างสรรค์ชิ้นงานของตนเองได้ นับเป็นการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในยุค 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งโครงการมหิงสาสายสืบปฐมวัย เป็นโครงการที่สร้างสรรค์ขึ้นให้มีความเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยนี้ เป็นการส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้แบบ active learning คลุกคลีอยู่กับธรรมชาติ เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องราวรอบตัว โดยการเน้นให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้พวกเขาได้ลงมือปฏิบัติจริงและสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้เกิดการจดจำ เข้าใจ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดความซึมซับ รับรู้ถึงความงดงามของธรรมชาติ เกิดความรัก และการมีจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไปได้
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า โครงการมหิงสาสายสืบปฐมวัย เป็นการต่อยอดโครงการมหิงสาสายสืบที่ขยายฐานกลุ่มเป้าหมายของเยาวชน อายุระหว่าง 8-18 ปี ลงสู่เด็กปฐมวัย อายุระหว่าง 3-7 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเล็กได้ทำกิจกรรมส่งเสริมจิตสำนึกและความใส่ใจในธรรมชาติตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งมีการ นำร่อง รุ่นแรก เมื่อปี 2561 ด้วยการดำเนินงานตาม 4 ขั้นตอนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก ได้แก่ 1) ค้นหา พื้นที่ธรรมชาติ เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยและค้นพบสิ่งที่ตนเองสนใจอยากศึกษาเรียนรู้และลงสำรวจ 2) สำรวจ พื้นที่นั้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้พวกเขามีความรู้ ความเข้าใจสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาทักษะต่างๆ ทั้งด้านร่างกาย สังคม และสติปัญญาผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ธรรมชาติจากประสบการณ์ตรง 3) อนุรักษ์ เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมในการลงมือทำบางสิ่งบางอย่างที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม และ 4) แบ่งปัน เพื่อให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะด้านการสื่อสารในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จและความภาคภูมิใจที่ได้ทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผลที่ได้จากการดำเนินโครงการในรุ่นแรก พบว่า เด็กๆ มีความสนุกสนาน มีจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น สามารถชักชวนหรือสื่อสารให้พ่อแม่ผู้ปกครองหรือเพื่อน มาร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ มีความรักและอยากดูแลธรรมชาติให้อยู่ไปนานๆ และมีความสุขทุกครั้งที่พูดถึงธรรมชาติ ที่อยู่รอบๆ ตัว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเด็กปฐมวัยจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงที่มีความรู้ ความเข้าใจในเป้าหมายและหลักการของโครงการมหิงสาสายสืบปฐมวัยอย่างชัดเจน รวมทั้งต้องมีทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินโครงการฯ พี่เลี้ยงจึงเปรียบเสมือนกลไกที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนการประเมินผล ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการได้ โดยปีที่ผ่านมา มีครูผู้สอนในระดับปฐมวัยหรือระดับประถมศึกษาตอนต้น ตลอดจนผู้สนใจในการทำกิจกรรมสำหรับเด็ก ทั้งในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและองค์การบริหารส่วนตำบล เข้าร่วมโครงการ จำนวน 38 คน และเพิ่มขึ้นในปีนี้ในฐานะพี่เลี้ยงใหม่ ประมาณ 50 คน ที่ต่างยินดีเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ โดยทุกคนจะกลับไปดำเนินโครงการมหิงสาสายสืบปฐมวัยที่หน่วยงานของตนเอง ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมกับเด็กๆ เกิดเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ สามารถสะท้อนออกมาถึงความงดงามทางจิตใจ ความตั้งใจ และความสนุกสนานของเด็กๆ ที่สำคัญ ทำให้เด็กๆ เกิดความสุขจากการลงมือทำด้วยตัวพวกเขาเอง โดยปี 2562 นี้ จะเกิดมหิงสาสายสืบปฐมวัย ไม่น้อยกว่า 70 กลุ่ม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 38 กลุ่ม อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว