รถตู้ กทม.-หัวหิน ของบริษัท วินจูนแอนด์เจมส์ อ้างเจ๊งเพราะ คสช. ประกาศหยุดให้บริการ 30 มิ.ย.นี้ ขณะที่ กรมการขนส่งทางบก ยืนยันไม่กระทบผู้โดยสาร เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการรายอื่น ให้บริการอีกกว่า 90 คัน 

จากกรณี เฟซบุ๊ก รถตู้กรุงเทพฯ-หัวหิน - บริษัทจูนแอนด์เจมส์ ทรานสปอร์ต ได้โพสต์ข้อความว่า "30 มิ.ย.62 เตรียมปิดกิจการ ขอประกาศเลยว่า ธุรกิจเจ๊งเพราะ คสช. ของรัฐบาลประยุทธ์ ขอบคุณทุกท่านที่เคยใช้บริการ #RIPรถตู้สาธารณะ"

ซึ่งหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกแพร่ออกไป ก็มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก บางส่วนซึ่งอ้างว่าเคยใช้บริการ แสดงความคิดเห็นต่างออกไป ว่าที่ปิดบริการอาจจะไม่ใช่เพราะ คสช. แต่อาจเป็นเพราะคุณภาพการให้บริการ

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบย้อนหลังจะพบว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ทางแอดมิน ได้โพสต์ข้อความ ว่าการที่ บขส. ได้จัดระเบียบรถตู้โดยสารประจำทางต่างจังหวัด ไปอยู่ในสถานีขนส่งสายใต้เก่าปิ่นเกล้าและสถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่งพบว่ามีความไม่พร้อมในหลายเรื่อง และว่า หากคิดนโยบายย้ายจากอนุสาวรีย์ตั้งมาให้สร้างสถานีแห่งใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน ธุรกิจทุกคนคงไม่ย่ำแย่ขนาดนี้ (อ่านโพสต์ ที่นี่)

ขณะที่ กรมการขนส่งทางบก ได้โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊ก "กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News" โดยระบุว่า การยกเลิกกิจการ รถตู้กรุงเทพ-หัวหิน ของบริษัท จูนแอนด์เจมส์ทรานสปอร์ต ไม่กระทบผู้โดยสาร เนื่องจากเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ยังมีผู้ประกอบการรายอื่นพร้อมให้บริการอีกกว่า 90 คัน 

พร้อมชี้แจงว่า ปัจจุบัน เส้นทาง 978 กรุงเทพ-หัวหิน บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง มีจำนวนรถโดยสารในเส้นทางรวมทั้งหมด 101 คัน แบ่งเป็นรถบัสปรับอากาศจำนวน 9 คัน และรถตู้โดยสารจำนวน 92 คัน โดยในจำนวนรถตู้ทั้งหมด แบ่งเป็น 6 วิน ประกอบด้วย

...

1. วินเจเคพี จำนวนรถ 42 คัน
2. วินพรปิยะ จำนวนรถ 12 คัน
3. วิน HPT จำนวนรถ 12 คัน
4. วิน ณ เณร จำนวนรถ 12 คัน
5. วินแสงจันทร์ จำนวนรถ 8 คัน
6. วินจูนแอนด์เจมส์ จำนวนรถ 6 คัน (ประกาศเลิกกิจการ วันที่ 30 มิถุนายน 2562)

ดังนั้น กรณีวินจูนแอนด์เจมส์ เลิกกิจการ จึงทำให้จำนวนรถลดลงเพียง 6 คันจากจำนวนทั้งหมด ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชน ยังมีรถบัสปรับอากาศและรถตู้โดยสารสาธารณะเพียงพอต่อการให้บริการ นอกจากนี้ วิน ณ เณร ยังได้มีการจัดซื้อรถโดยสารขนาดเล็กจำนวน 10 คัน เพื่อเตรียมเข้าทดแทนรถตู้ที่ครบอายุการใช้งานไว้แล้วในอนาคต

ทั้งนี้ การจัดระเบียบการให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ และรถโดยสารประเภทอื่นๆ ด้วยนั้น เป็นนโยบายเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะให้แก่ประชาชน โดยภาครัฐได้มีการกวดขันการให้บริการควบคู่กับการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการนำรถโดยสารขนาดเล็กมาเปลี่ยนทดแทนรถตู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบกให้เริ่มทดแทนเฉพาะรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งาน (ครบ 10 ปี) ทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือ และลดผลกระทบของผู้ประกอบการ อาทิ การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บขส., ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้โครงการ “เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสาร” และได้จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จรถตู้โดยสารประจำทาง ณ บริเวณอาคาร 3 ชั้น 1 อำนวยความสะดวกให้คำปรึกษาแนะนำกรณีรถตู้โดยสารประจำทางจะครบกำหนดอายุ 10 ปี และขั้นตอนการ จดทะเบียนรถแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) พร้อมช่วยเหลือเจ้าของรถในกรณีที่มีความประสงค์ที่จะทำการเปลี่ยนรถทดแทนรถคันเดิมที่หมดอายุ.