ถ้า “ปะการัง” ต้องสูญพันธุ์ไปจากโลก...พวกเราจะอยู่กันอย่างไร?

สำหรับคนหลายคน “ปะการัง” ในท้องทะเล อาจจะเป็นเพียงแค่สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ที่ทุกคนไปดำน้ำแล้วชื่นชมความงามของมันเท่านั้น

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง “ปะการัง” มีความสำคัญมากกว่านั้น!

ปะการังเป็นทั้งแหล่งผลิตอาหารและสร้างอาชีพที่สำคัญของมนุษยชาติ แม้ว่าแนวปะการังจะครอบคลุมพื้นที่แค่ 1% ของพื้นที่ใต้ทะเลทั้งหมด แต่ทว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลประมาณ 25% ใช้ประโยชน์จากปะการัง ทั้งเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และที่หลบภัยของสัตว์ทะเลจำนวนมาก ทั้งยังมีประชากรกว่า 500 ล้านคนบนโลกที่ต้องอาศัยพึ่งพาประโยชน์จากแนวปะการัง มีการประมาณการว่ามูลค่าที่ได้จากแนวปะการังทั่วโลกนั้นสูงกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี การสูญเสียแนวปะการังที่ใช้เวลาเติบโตนานนับ 100 ปีในชั่วพริบตา ย่อมหมายถึงการสูญหายของสัตว์ทะเลจำนวนมาก คนจำนวนมากต้องตกงานและขาดรายได้จากการทำประมงและการท่องเที่ยว ท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

...

ล่าสุดรายงานประเมินสถานการณ์โลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศวิทยาระบุว่า พืชและสัตว์ราว 1 ล้านสายพันธุ์จากทั้งหมด 8 ล้านสายพันธุ์ทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์! รวมถึง “ปะการัง”

ไม่เพียงแค่การลักลอบจับปะการัง การทำประมงมากเกินความจำเป็นจะเป็นภัยคุกคามต่อปะการัง แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน คือตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิด “ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว” ซึ่งกำลังสร้างความเสียหายให้แก่แนวปะการังและระบบนิเวศทางทะเลทั่วโลก

จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยถึงสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในประเทศไทยปี 2562 พบว่า มีปะการังภาวะฟอกขาวรวมทั้งสิ้นเกือบ 70-80 จุด จากอุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้...ปะการังไทยเสี่ยงสูญพันธุ์ แน่นอน

“ขณะนี้ สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำลังวิจัยปะการังทนร้อน โดยเริ่มต้นศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการัง เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีการศึกษามาก่อน และความหลากหลายทางพันธุกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ เช่น หากปะการังเขากวางที่เหลืออยู่ในทะเลไทยมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยมาก หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่าโลกของเราเหลือแค่กลุ่มคนเอเชียเท่านั้น เมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติรุนแรงที่มีผลจำเพาะต่อปะการังเขากวาง หรือคนเอเชีย สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้จะมีโอกาสตายทั้งหมดหรือสูญพันธุ์” ดร.วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ-สวทช. ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิจัยคนแรกๆของโลกที่เริ่มศึกษาการอยู่รอดของปะการังในสถานการณ์โลกร้อน

ทั้งนี้ ในงานวิจัยเริ่มศึกษาจากปะการังโขด เนื่องจากเป็นปะการังชนิดเด่นและเป็นโครงสร้างหลักของแนวปะการังในทะเลไทย ที่สำคัญมีแนวโน้มอยู่รอดได้เมื่อเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว โดยศึกษาตัวอย่างปะการังโขดจาก 16 เกาะ ที่กระจายอยู่ในอ่าวไทยและอันดามัน ผลวิจัยเบื้องต้นพบว่า ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังโขดในทะเลฝั่งอันดามันมีน้อยกว่าทางฝั่งอ่าวไทย นั่นคือหากเกิดการฟอกขาวหรือโรคระบาดที่มีผลต่อปะการังโขดในฝั่งอันดามันจะมีโอกาสเสี่ยงสูญพันธุ์ได้ ทั้งนี้ ยังได้เตรียมศึกษาปะการังสกุลอื่นๆ เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังผิวเกล็ดน้ำแข็ง และปะการังลายดอกไม้ เพื่อสร้างฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมปะการังของประเทศ สำหรับเฝ้าระวังปะการังสายพันธุ์ต่างๆที่อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และอาจเป็นหนทางสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟู เช่น นำปะการังมาผสมเทียมแบบอาศัยเพศ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม สร้างโอกาสในการอยู่รอดมากขึ้น

“ทีมวิจัยยังได้ศึกษาลงลึกถึงระดับยีนเพื่อหา “ปะการังทนร้อน” ด้วยการสกัดสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอ (RNA) เพื่อศึกษาการแสดงออกของยีนต่างๆเมื่อเกิดการฟอกขาว และเปรียบเทียบระหว่างปะการังโคโลนีที่ทนร้อนกับฟอกขาวว่ามีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นต่างกันหรือไม่ ผลการวิจัยเบื้องต้นพบยีนที่แสดงออกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ยีนส่วนใหญ่มีการแสดงออกสูงขึ้น เช่น กลุ่มยีนที่มีบทบาทในการกำจัดปริมาณอนุมูลอิสระที่สาหร่าย Symbiodinium ผลิตมากผิดปกติไปในช่วงที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบยีนอีกหลายตำแหน่งที่แสดงออกแตกต่างกัน ซึ่งทีมวิจัยอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล และค้นหาเครื่องหมายโมเลกุล (DNA marker) ที่สัมพันธ์กับลักษณะการทนต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเล หรือความทนร้อนของปะการัง สำหรับใช้คัดเลือกปะการังพ่อแม่พันธุ์ที่ทนร้อนเพื่อขยายพันธุ์ ก่อนทำการย้ายปลูกกลับสู่ทะเล ช่วยให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ ได้ปะการังที่ทนต่อสภาวะภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต”

“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า ปะการังทนร้อน คือหนทางรอดจากภาวะฟอกขาว แต่อย่างไรก็ตาม แม้การใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์มาช่วยในการอนุรักษ์ฟื้นฟูปะการัง อาจเป็นความหวังต่อการป้องกันการสูญพันธุ์ของปะการังได้

แต่สิ่งที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์ความหลากหลายของปะการังและสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ได้ดีที่สุดคือ ความร่วมมือและพยายามอย่างจริงจังในการหันกลับมาดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ปะการังจะอยู่บนโลกต่อไป หรือจะต้องสูญพันธุ์ไป ล้วนขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและการกระทำของพวกเราทุกคน.


ทีมข่าววิทยาศาสตร์