สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เปิดสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อ EEC อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI และ Data Sciences เข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล และพัฒนาแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก้าวสู่การเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคในอนาคต

สถาบันพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อ EEC หรือ Digital Academy Thailand (DAT) จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI และ Data Sciences เข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล อีกทั้ง พัฒนาความรู้ขั้นพื้นฐานและความรู้ขั้นสูง เพื่อให้สามารถทำงานกับเครื่องมือประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูง และสร้างผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดึงศักยภาพของ AI และ Data Sciences มาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ EEC สถาบันแห่งนี้จะผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงในพื้นที่ EEC อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า การจัดตั้งสถาบัน DAT เป็นโครงการเพื่อการพัฒนาแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัล สำหรับเขตพื้นที่ EEC โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม AI เพื่อสร้างความสามารถของอุตสาหกรรมที่เป็น new S-curve ในการใช้เทคโนโลยีด้าน AI และ Data Sciences ที่จะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงอื่นๆ เช่น IoT, Robotics และเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล อันจะนำไปสู่การยกระดับแรงงานในพื้นที่ EEC ผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อปรับทักษะ (Reskill) ในหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยโครงการนี้จัดอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมดิจิทัล มีมูลค่าโครงการ 63,000,000 ล้านบาท (depa สนับสนุนผ่านมาตรการ Infra Fund 50,000,000 บาท) มีระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ปี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) อันเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ในการก้าวเข้าสู่ยุคของการผลิตด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรหรือกำลังคนที่เรียนจบด้านไอทีอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเทคโนโลยีในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากภาคอุตสาหกรรมจะมีการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ จึงจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างบัณฑิตเฉพาะด้านและเร่งปรับทักษะเพื่อพัฒนาแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัลให้เพิ่มมากขึ้น สถาบันพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล จึงนับเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของห้องเรียนที่รองรับเทคโนโลยี AI และ IoT ทำให้เด็กได้เรียนรู้บนพื้นฐานเทคโนโลยีที่มีความพร้อม และสามารถใช้ได้ในการทำงานจริง โดยเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนที่สนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติมด้าน AI และ IoT ที่จะตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรมในอนาคตได้ใช้งานอย่างเต็มที่ โดยกำหนดเป้าหมายปี 2562 จะมีการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 500 คน