ปัจจุบันมีผู้ป่วยหลายล้านรายต้องพึ่งพาเครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือฝังอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นๆ ซึ่งต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ แต่อุปกรณ์เหล่านี้มักต้องเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 5–10 ปี ทว่าการเปลี่ยนของเดิมออกเพื่อใส่ของใหม่เข้าไปนั้น ต้องผ่านการผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือติดเชื้อได้เช่นกัน

แต่ปัญหาดังกล่าวอาจหมดไปในอีกไม่ช้า เพราะเมื่อเร็วๆนี้วิศวกรจากวิทยาลัยวิศวกรรมเธเยอร์แห่งดาร์ตมัธ ในสหรัฐอเมริกา เผยการออกแบบสร้างเครื่องกระตุ้นหัวใจขนาดเล็กที่สามารถชาร์จพลังงานด้วยตัวเอง โดยปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวให้สามารถควบคุมพลังงานที่เกิดขึ้นขณะวัตถุกำลังเคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่าพลังงานจลน์ของสายโลหะที่เชื่อมต่อกับหัวใจ รวมทั้งเสริมวัสดุคือโพลีเมอร์ชนิดพีวีดีเอฟ (Polyvinylidene fluoride-PVDF) มีความยืดหยุ่นสูงมาทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเปลี่ยนกลไกการเคลื่อนไหวเป็นพลังงานที่จะทำให้ชาร์จแบตเตอรี่ได้อย่างต่อเนื่อง

นวัตกรรมนี้ตั้งเป้าว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ต้องฝังอุปกรณ์ไว้ในร่างกาย ให้สามารถทำงานได้ตลอดอายุการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่ ที่สำคัญคืออุปกรณ์ชิ้นนี้ต้องไม่รบกวนการทำงานหรือสร้างความเสียหายให้แก่ร่างกาย.



ภาพ Credit : Patricio R. Sarzosa, Thayer School of Engineering