“กองทุนหมู่บ้าน” ยังเป็นกุญแจไขความจนที่พึ่งได้และจำเป็น รศ.ดร.นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ย้ำว่า โครงการที่จะเกิดขึ้นต้องมองเห็น “รายได้” เป็นทุนหมุนเวียน ต่อยอด “กองทุน” ไปเรื่อยๆ

ที่สำคัญ...ต้องตอบโจทย์สภาพปัญหา ความต้องการของคนในชุมชนเป็นหลัก

เมื่อเร็วๆนี้ กองทุนหมู่บ้านฯได้สานพลังจัดงาน “มหกรรมแสดงผลการดำเนินงานโครงการตามแนวทางประชารัฐฯ” เผยตัวเลขข้อมูลช่วยเศรษฐกิจฐานรากได้ผลตามเป้า โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ยกระดับชุมชนกว่า 70,000 กองทุน ผ่าน 200,000 โครงการ เกิดการจ้างงานกว่า 1.6 ล้านคน

กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเดินหน้าโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในหมู่บ้าน...ชุมชนเมือง ซึ่งมีกุญแจสำคัญคือเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำประชาคมโดยประชาชน เพื่อประชาชน

ผ่านกลไกของ “กองทุนหมู่บ้าน” และ “ชุมชนเมือง” ทั่วประเทศ

...

สำหรับงานนี้มีผู้แทนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจากทุกจังหวัดทั่วประเทศมาร่วมงานประมาณ 20,000 คน ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆเพื่อแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน...

“รัฐบาลมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจในกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้เป็นอย่างดี”

รัฐบาลจึงได้สนับสนุนงบประมาณให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ทั้ง 79,595 กองทุน ให้ดำเนินโครงการตามแนวทางประชารัฐ ใน 3 ปีต่อเนื่อง คือ หนึ่ง...โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ในปี 2559 วงเงิน 35,000 ล้านบาท สอง...โครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในปี 2560 วงเงิน 15,000 ล้านบาท

และ สาม...โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชา ตามแนวทางประชารัฐ ในปี 2561 วงเงิน 20,000 ล้านบาท...เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองก่อให้เกิดประโยชน์หลายมิติ เช่น ทำให้เกิดร้านค้าชุมชนไม่น้อยกว่า 25,000 ร้านค้าทั่วประเทศ โครงการน้ำดื่มชุมชนไม่น้อยกว่า 10,000 โครงการ โครงการส่งเสริมการเกษตรไม่น้อยกว่า 56,000 โครงการ

โครงการบริการเพื่ออุปโภค...บริโภค ไม่น้อยกว่า 45,000 โครงการ โครงการผลิตภัณฑ์ประชารัฐไม่น้อยกว่า 37,000 โครงการ และโครงการตลาดประชารัฐไม่น้อยกว่า 2,900 โครงการ

น่าสนใจอีกว่าการดำเนินโครงการยังก่อให้เกิดการจ้างงานในหมู่บ้านและชุมชนกว่า 1.6 ล้านคน ทำให้กองทุนมีรายได้รวม 3 ปี ไม่น้อยกว่า 39,000 ล้านบาท ได้ผลกำไรกว่า 8,500 ล้านบาท

อีกประการที่สำคัญก็คือ การทำให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีโอกาสฟื้นฟูกลับมาเป็นกองทุนที่เข้มแข็ง ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกกว่า 5,000 กองทุน

เพื่อประกาศความสำเร็จที่จะนำไปสู่การถอดบทเรียนเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอดการดำเนินโครงการตามแนวทางประชารัฐที่ดำเนินการโดยกลไกของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และเป็นการให้กำลังใจแก่คณะกรรมการกองทุนฯที่มุ่งมั่น ตั้งใจดำเนินโครงการจนประสบผลสำเร็จ รวมทั้งขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความเชื่อมั่น...ไว้วางใจในความมุ่งมั่น ตั้งใจ และศักยภาพ

คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการบริหารโครงการยังมีมติเห็นชอบให้มอบรางวัลโครงการประชารัฐตัวอย่างให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในทุกจังหวัด แบ่งเป็นรางวัลในภาพรวมของแต่ละจังหวัด 231 รางวัล และรางวัลตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ของประเทศ ใน 6 ด้าน ได้แก่

การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน สร้างความสุขและความมั่นคง, การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนา, การพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์, การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำ, การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การบูรณาการกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

คาดหวังกันว่าตัวอย่างชุมชน...หมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมเหล่านี้จะมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้าง “คุณค่า” และ “มูลค่า” ของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นสินทรัพย์ของแผ่นดินที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

ที่ผ่านมาปัญหามีว่า...กองทุนที่ดำเนินการผ่านโครงการต่างๆก็จะมีทั้งกองทุนที่เข้มแข็ง และกองทุนที่อ่อนแอ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แต่ละกองทุนมีขอบเขตจำกัด ดำเนินการภายในหมู่บ้าน ชุมชนของตนเองเท่านั้น แนวคิดที่เกิดขึ้นสำหรับกองทุนที่ประสบความสำเร็จเข้มแข็งจะเข้าไปช่วยกองทุนที่อ่อนแอ

รศ.ดร.นที หมายถึงว่า กองทุนน้องจะได้มีกองทุนพี่คอยช่วยเหลือ มีที่พึ่ง เปรียบได้กับ “กองทุนหมู่บ้าน”...มีแก้วน้ำหมู่บ้านละ 1 ใบ ถ้าเรามี “ถังน้ำ” สัก 1 ใบ ตั้งอยู่ประจำตำบล แก้วไหนพร่องก็เอาน้ำจากถังมาเติม แก้วไหนล้นก็เอาน้ำไปฝากไว้ที่ถัง จะทำให้กองทุนหมู่บ้านมีความมั่นคงมากขึ้น

สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เสริมว่า ภายใต้การดำเนินโครงการกองทุนฯยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนตามแนวทางประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนพัฒนาร้านค้าประชารัฐ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพโครงการ

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้การรับรองคุณภาพและคุณธรรมของโครงการด้วยการมอบตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภคให้โครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ และมหาวิทยาลัย ราชภัฏทั่วประเทศ ร่วมติดตามประเมินผล และสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดโครงการ เป็นต้น

โครงการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่น่าสนใจที่ถูกนำเสนอแนวทางการดำเนินงานเป็นบทเรียนแห่งการเรียนรู้ มอบนโยบายในการขับเคลื่อนงานต่อไป...เปิดปฏิบัติการการพัฒนาต่อยอดโครงการตามแนวทางประชารัฐ เพื่อให้โครงการได้ดำเนินการต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลตาม “วิถีประชารัฐ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

“กองทุนหมู่บ้าน” ตอกย้ำหัวใจสำคัญ...ชุมชนนั้นๆจะต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการได้จริง เหมาะสมกับพื้นที่...มีประโยชน์ระยะยาว ชัดเจนว่า...โครงการเป็นของส่วนรวมไม่ใช่ของกรรมการคนใดคนหนึ่ง เป็นความต้องการของชุมชน และต้องไม่มีทุจริตคอร์รัปชัน

“กองทุนหมู่บ้าน” นโยบายประชานิยมที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจแก่นแท้เป็นได้ทั้งของหวานและยาพิษ ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่ตัวเงินรายได้ แต่เป็นความสุขสงบที่เกิดขึ้นในชุมชน.