แหล่งบ่มเพาะ "นวัตกร-วิศวกร"

โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fab Lab–FabricationLab 

แหล่งบ่มเพาะ “นวัตกร” และ “วิศวกร” เพื่อรองรับอนาคตประเทศไทย ที่ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 จะเพิ่มจำนวนนวัตกรและวิศวกรให้เป็น 25 คนต่อประชากร 10,000 คน จากปัจจุบันที่มีเพียง 13 คน เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ได้อย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ ผลการสำรวจ “ภาพรวมตลาดแรงงานไทยปี 2557” พบว่า วิศวกรเป็นหนึ่งในสาขาอาชีพในประเทศไทย ที่มีจำนวนผู้สมัครไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งสายงานวิศวกรนี้มีความต้องการจ้างงานสูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ ร้อยละ 17.1 แต่จำนวนผู้สมัครมีเพียงร้อยละ 6.6 เท่านั้น โดยวิศวกรที่ประเทศไทยขาดแคลนอย่างหนัก คือ วิศวกรวิจัย วิศวกรออกแบบและวิศวกรปฏิบัติ/นวัตกร

การสร้าง “นวัตกร” และ “วิศวกร” ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

...

ที่สำคัญการพัฒนาบุคลากร วทน.ซึ่งรวมถึงนวัตกรและวิศวกร จำเป็นต้องเริ่มบ่มเพาะตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมศึกษา เพราะนักเรียนยังมีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการมาก ขณะเดียวกันต้องนำแนวคิด สะเต็ม (STEM) ซึ่งรวมเอา 4 สาขาวิชาเข้าด้วยกัน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) มาใช้ในการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจตลอดจนพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ศาสตร์เหล่านี้ในการแก้ปัญหาจริงผ่านการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน เนื่องจากการเรียนรู้แบบสะเต็ม มุ่งเน้นการปฏิบัติและการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในลักษณะนี้ คือ โรงประลองทางวิศวกรรม หรือ Fab Lab

“โรงประลองทางวิศวกรรมที่จะเป็นสถานที่ฝึกการเรียนรู้ ทดลองและลงมือสร้างชิ้นงานต่างๆ ทั้งสร้างหุ่นยนต์ โดรน สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ฯลฯ และนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ จะจัดตั้งใน 150 สถานศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาทั่วประเทศ โดยล่าสุดไปเปิดโรงประลองฯ ที่วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา และทั้ง 150 สถานศึกษาจะต้องสร้าง นวัตกรและวิศวกรให้ได้ 15,000 คน และจะต้องได้ชิ้นงานที่ใช้งานได้จริง 150 ชิ้นงาน และชิ้นงานที่ส่งประกวด ในระดับภูมิภาค ระดับชาติและ นานาชาติ 300 ชิ้นงาน ที่สำคัญเด็กและเยาวชนที่อยู่ในโรงประลองต้นแบบฯ จะต้องเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะโลกในปัจจุบันและอนาคต จะเป็นโลก ที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปรวดเร็วมากการ จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเริ่มที่คนต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ต้องรู้จักหาความรู้ใหม่ๆ ที่สำคัญต้องลงมือทำ” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ผู้ริเริ่มการตั้งโรงประลองต้นแบบฯ ระบุถึงเหตุผลในการก่อตั้งที่มอบให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการด้วยงบประมาณ 189.5 ล้านบาท เพื่อทำให้เด็กไทยยุคนี้ ต้องมีความคิดความอ่านด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมีทักษะ

สำหรับโรงประลองฯ สวทช.จะจัดหาอุปกรณ์พื้นฐาน ในการออกแบบชิ้นงาน ที่นักเรียนสามารถจินตนาการและจัดทำชิ้นงานในรูปแบบ 3 มิติ คือ 3D printer ที่รองรับโปรแกรมออกแบบที่เป็น open source อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เช่น กล้องจุลทรรศน์ เครื่องวัดแสง เครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรม รวมทั้งเครื่องตัดแบบ laser และบอร์ดสมองกลฝังตัว และอุปกรณ์ตรวจวัด หรือ sensor ให้สถานศึกษาของรัฐที่เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา วิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 150 แห่ง โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มโรงเรียนที่มีความสนใจ หมายถึงมีคะแนนเฉลี่ยโอเน็ต ระดับมัธยมศึกษาปีที่3 คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 2.โรงเรียนที่มีความพร้อม 3.วิทยาลัยเทคนิค/อาชีวศึกษาฐานวิทยาศาสตร์ และ 4.จัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและทั้ง 150 โรงเรียนจะมี 10 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ธรรมศาสตร์, เชียงใหม่, สงขลานครินทร์, บูรพา, พระจอมเกล้าลาดกระบัง, พระจอมเกล้าพระนครเหนือ, พระจอมเกล้าธนบุรี, ราชมงคลกรุงเทพ,
ราชมงคลล้านนาฯ, ราชมงคลธัญบุรี และจะมีการสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่าง สวทช. มหาวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิค โรงเรียน ให้มีการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์เพื่อขยายผลสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรในอนาคต

“จากการประเมินผลสถานศึกษาในโครงการฯ อาทิ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี พิษณุโลก หนองบัวลำภู เป็นต้น พบว่ามีผลงานการสร้างชิ้นงานที่น่าพอใจ เด็กมีความคิดสร้างสรรค์เยอะมาก เพียงแต่ขาดเครื่องมือในการแปลงความคิดสร้างสรรค์ออกมากลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ปัจจุบันมีโรงเรียนอาชีวะร่วมโครงการ 50 แห่ง ซึ่งอนาคตจะขยายเป็น 400 แห่ง” ดร.สุวิทย์ กล่าว

“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม น่าจะเป็นคำตอบในส่วนของแหล่งบ่มเพาะชั้นดี สำหรับผลิตวิศวกร และนวัตกรคุณภาพ เพื่อรองรับประเทศไทย 4.0 ในอนาคตอันไม่ไกล

แต่ที่เราอดห่วงไม่ได้และอยากฝากไว้คือการผนึกพลังจากหลายภาคส่วนไม่ใช่เรื่องง่ายที่สำคัญคือความต่อเนื่อง จริงจัง โดยเฉพาะการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย

คงน่าเสียดาย หากโครงการดีๆ ที่เริ่มต้นแล้วต้องเกิดอาการสะดุด หรือหยุดชะงัก กลายเป็นฝันกลางฤดูฝน.

ทีมข่าววิทยาศาสตร์