“ครัวเรือน” ที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน จากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้สมาชิกครอบครัว ลดลงจากร้อยละ 4.06...หรือ 6.6 แสนครัวเรือน จากทั้งหมด 16.3 ล้านครัวเรือนในปี 2545 เหลือร้อยละ 2.09...หรือ 4.4 แสนครัวเรือน จาก 21.4 ล้านครัวเรือนในปี 2560

ขณะเดียวกัน...ครัวเรือนที่กลายเป็นครัวเรือนยากจนลงภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล จากร้อยละ 1.33...หรือ 2.2 แสนครัวเรือน ในปี 2545 เหลือเพียงร้อยละ 0.29...หรือ 6 หมื่นครัวเรือนในปี 2560

ข้อมูลข้างต้นนี้มาจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ

นับจากอดีตที่มี “ครัวเรือน” จำนวนไม่น้อยต้องขายทรัพย์สิน หรือเป็นหนี้สินกู้ยืมเงินถึงขั้นล้มละลายเพื่อรักษาตนเอง หรือคนในครอบครัวจาก “โรคค่าใช้จ่ายสูง” และ “โรคเรื้อรัง” ที่ต้องใช้เงินรักษาต่อเนื่อง...กระทบความเป็นอยู่ของสมาชิกครอบครัว

ประเด็นสำคัญมีอยู่ว่า ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ได้สร้างความมั่นคงของชีวิตให้กับหลายครอบครัว และยังก่อให้เกิดความมั่งคั่ง มีเงินเหลือพอใช้จ่ายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆให้กับครอบครัว ทั้งด้านการศึกษา การสร้างรายได้ โดยไม่ต้องกังวลด้านค่ารักษาพยาบาล...

ซึ่งเป็น “รากฐาน” สำคัญของการ “พัฒนาประเทศ”

แม้ว่าภาพรวมรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 201,679 ล้านบาท ในปี 2545 เป็น 621,471 ล้านบาท...ในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 4.02 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2560 ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 169,752 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.2 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งประเทศ และร้อยละ 0.04 ของ GDP ซึ่งเป็นภาระทางด้านงบประมาณของประเทศ แต่ก็ยังน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ

...

และที่สำคัญ...ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างมากมาย

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า การลงทุนด้านสุขภาพวันนี้ทั่วโลกยอมรับแล้วว่าเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยเป็นเครื่องมือการลงทุนด้านสุขภาพที่คุ้มค่า

โดยเฉพาะหลังจากประเทศไทยมี “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ในปี 2545 ทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกด้านสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นของคนไทยทั่วประเทศ

“ลดอัตราการเจ็บป่วย...เสียชีวิตอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ...สังคม และส่งผลให้รายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด”

ผลสำเร็จของการมีหลักประกันสุขภาพที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้องค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก เล็งเห็นความสำคัญของการลงทุนด้านสุขภาพนี้...ที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ ในปี 2555 ประเทศสมาชิกจึงร่วมกันผลักดันให้การเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่จะบรรลุความสำเร็จในปี 2573

กำหนดให้ “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” (UHC Day) ตรงกับวันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี และในปีนี้ได้ชูประเด็น “รวมพลังเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “UNITE FOR UNIVERSAL HEALTH COVERAGE” เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกได้มีการรวมพลังผลักดัน ขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชากรในประเทศตนเอง

น่าสนใจว่า... “ประเทศไทย” ได้ก้าวข้ามผ่านมาแล้ว และถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบของการจัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสริมว่า วันหลักประกันสุขภาพสากลปีนี้ในเวทีโลกได้ชูประเด็นรวมพลังเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกได้มีการรวมพลังผลักดันและขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชากรในประเทศตนเอง โดยประเทศไทยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งสนับสนุน

จากที่ได้ก้าวข้ามผ่านดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาถึง 16 ปี และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบของการจัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ ได้กำหนดสาระสำคัญของการจัดงานเนื่องใน “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย” วัน UHC Day ของไทยปีนี้ว่า...

“การลงทุนด้านสุขภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มทรัพยากรด้านสุขภาพ อาทิ งบประมาณ กำลังคน และมาร่วมมือกันสร้างหลักประกันด้านสุขภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่ม สานต่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ตอกย้ำความมั่นคงในหลักการสำคัญคือ “ความครอบคลุมและทั่วถึง ลดช่องว่างด้านสุขภาพ” ให้สมกับที่ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยวันนี้เราทุกคนต้องร่วมกันสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเป็นกลไกนำพาประเทศที่ยั่งยืนได้

กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มองว่าประเทศไทยมีผลงานที่ดีหลายเรื่องที่แบ่งปันกับนานาประเทศในเวทีโลกได้ โดยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องหนึ่ง ไม่เพียงแต่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกเท่านั้น แม้แต่ธนาคารโลกยังระบุว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ดี...เป็นนโยบายที่ดี ทำให้ประชาชนไม่มีหนี้สินครัวเรือนที่มีเหตุจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของคนในครอบครัว เรียกว่าเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันได้

ที่ผ่านมากรมองค์กรระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถร่วมกับนานาประเทศผลักดันให้การสร้างสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” มุ่งหวังเพื่อให้ประเทศต่างๆตระหนักรับรู้ความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผลักดันเพื่อดูแลประชากรในประเทศตนเอง

ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปีหน้ากำหนดจัดขึ้นในวันที่ 26 กันยายน 2562 จะมีการประชุมระดับสูงในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อเป็นเวทีผลักดันทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยนับเป็นตัวอย่างประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ยังสามารถลงทุนการบริการสุขภาพให้กับประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข...

ไม่ต้องเป็นหนี้สินจากการกู้ยืม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจนถึงขั้นหมดตัว

“การทำให้เกิดความตระหนักต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิธีที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติและการทำให้เห็น ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะได้เข้ามาศึกษาดูงาน และถูกนำไปเผยแพร่ต่อให้กับนานาประเทศ”

อนาคตระบบหลักประกันสุขภาพประเทศไทย ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างทั่วถึงทั่วไทย สร้างเสริมสุขภาพคนไทยให้เข้มแข็งมั่นคงยั่งยืน จะต้องเดินหน้าต่อไปไม่มีวันล้ม.