“ผู้สูงอายุ” จากนิยามของ องค์การสหประชาชาติ คือ ชายและหญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวเลขผู้สูงอายุทั่วโลก ปัจจุบันมีประมาณ 962 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 7 ของประชากรทั้งโลก สำหรับประเทศไทยมีผู้สูงอายุราว 10 ล้านคน

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่า ใน 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยประชากรสูงวัยของไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะมีจำนวนถึง 13 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งประเทศ

เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น การเตรียมความพร้อมจึงไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ ครอบครัว และผู้ดูแล หากแต่ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมการอยู่อาศัย บ้าน ชุมชน ไปสู่รูปแบบที่ผสมผสานกับวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป

ทีเซลส์ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยอาศัยเทคโนโลยีต่างๆที่จะสามารถตอบสนองและอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ดูแล และครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้วยการสนับสนุนการคิดค้น วิจัย ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนายา เวชภัณฑ์ต่างๆที่จะช่วยดูแลรักษาสุขภาพของผู้สูงวัยที่อาจประสบกับภาวะความเจ็บป่วยในด้านต่างๆ และสนับสนุนการสร้างเครื่องมือทางการแพทย์ที่จะช่วยส่งเสริมให้การใช้ชีวิตของผู้สูงวัยสะดวกยิ่งขึ้น

...

โครงการสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตยาและเวชภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยนั้น ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ในการคิดค้นการพัฒนายาและเวชภัณฑ์

ด้วยจุดแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลให้มีทรัพยากรที่สามารถนำมาคิดค้นพัฒนาเป็นยาหรือเวชภัณฑ์ใหม่ๆได้อย่างต่อเนื่อง

ทีเซลส์ได้จัดทำโครงการต่างๆ ทั้งการวิจัยและพัฒนายาจากสารสกัดผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ พัฒนาเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัด พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวเภสัชภัณฑ์ ชีววัตถุ ตลอดจนพัฒนาสูตรตำรับยาสามัญ (generics) ด้วยเทคโนโลยีระบบนำส่งยาที่ทันสมัย

โดยกลไกความร่วมมือในแต่ละโครงการมีรูปแบบเป็นทั้งความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ตลอดจนรูปแบบเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้สูงวัยในการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ

นอกจากนี้ ทีเซลส์ยังได้ริเริ่มจัดตั้งโครงการเวชนคร หรือ MEDICOPOLIS ที่เกิดจากแนวคิดในการสร้างเมืองด้านสุขภาพแบบครบวงจร ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ยังสามารถดูแลสุขภาพของประชากรได้ในทุกช่วงวัย

ด้วยการบูรณาการองค์ประกอบต่างๆของการป้องกัน ดูแล และรักษาสุขภาพให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยใช้นวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์มาปรับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการเวชนครจะมีทั้งเขตที่อยู่อาศัย เขตให้บริการทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์ ยา และเครื่องมือแพทย์ ที่รวบรวมเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการดูแลสุขภาพเข้าไว้ด้วยกัน

นอกจากมีเป้าหมายเพื่อดูแลสุขภาพคนไทยอย่างยั่งยืนแล้ว ยังคาดหวังให้เวชนครเป็นเมืองที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการนำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ

ปัจจุบันมีโครงการเวชนครในจังหวัดนำร่อง ได้แก่ ปราจีนบุรี สกลนคร เชียงราย พิษณุโลก และมีแผนงานขยายสู่จังหวัดที่มีศักยภาพต่อไปในอนาคต

ดร.นเรศบอกอีกว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขั้นสูง เพื่อรองรับกับสังคมผู้สูงวัยนั้น ทีเซลส์ได้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของคนไทยในการสร้างหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ด้วยการจัดโครงการประกวด i-Medbot ซึ่งจัดมาแล้ว 4 ครั้ง

โดยหลายผลงานได้นำมาต่อยอดจนสามารถนำมาใช้งานได้จริง อาทิ หุ่นยนต์ดินสอ (Dinsow) หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ที่คิดค้นและผลิตโดยคนไทย จากบริษัท CT Asia Robotics โดยหุ่นยนต์ดินสอสามารถแจ้งเตือนการทานยา ฝึกการเล่นเกม เพื่อชะลอการเกิดความจำเสื่อม

โปรแกรมเพื่อสร้างความบันเทิงต่างๆ เช่น การฟังเพลง ฟังธรรมะ หรือการดูรูปภาพต่างๆ รวมถึงโปรแกรมที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันต่างๆ ให้ผู้สูงวัยได้เชื่อมต่อกับผู้ดูแล เช่น VDO Call และยังสามารถกดเรียกผู้ดูแล กรณีต้องการความช่วยเหลือได้อีกด้วย นับเป็นนวัตกรรมที่พร้อมรองรับกับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ทีเซลส์ยังมีหน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขั้นสูง ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อบริหารจัดการและขับเคลื่อนเครือข่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์

เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถนำมาใช้งานเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักวิจัยไทยในระดับนานาชาติ

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ ผู้บริหารศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มของสังคมผู้สูงอายุ กล่าวในงานประชุมและนิทรรศการ Bio Investment Asia 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดยทีเซลส์ว่า

สถานการณ์ของสังคมผู้สูงอายุในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกามีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องขึ้นทุกปี ลักษณะทางประชากรศาสตร์จากเดิมที่เป็นรูปทรงพีระมิดยอดแหลม ฐานใหญ่ด้วยจำนวนประชากรวัยทำงาน กำลังเปลี่ยนไปโดยยอดพีระมิดซึ่งเป็นจำนวนผู้สูงวัยได้ขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด

ขณะเดียวกัน วัยทำงานซึ่งแต่เดิมอัตราส่วนของผู้ชายจะสูงกว่าผู้หญิง แต่ปัจจุบันกลับพบว่าผู้หญิงได้เข้าสู่วัยทำงานมากกว่าผู้ชาย สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างของครอบครัว (Family Structure) กล่าวคือ

คนปัจจุบันจะสร้างครอบครัวแบบ Single Family วางแผนการมีลูกน้อยลง อัตราการเกิดจึงต่ำอย่างต่อเนื่อง ขณะที่วัยทำงานแต่เดิมจะเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยที่อายุมากขึ้น ประเทศที่เป็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจนคือ ประเทศญี่ปุ่น ที่จำนวนผู้สูงวัยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับจำนวนประชากรที่เกิดใหม่

แต่ญี่ปุ่นก็ได้เตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงวัยได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวสะท้อนผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดเจนในสังคมผู้สูงวัย

คือ อัตราการใช้จ่ายทางการแพทย์ หรือ Medical Cost ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นถึง 6% จากเดิม 3% เป็นผลกระทบในเชิง Economic Impact ที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ

ทั้งนี้ ยังมีปรากฏการณ์หรือแนวโน้มต่างๆที่จะเกิดขึ้นในสังคมผู้สูงวัย อาทิ อายุขัยเฉลี่ยของคนจะสูงขึ้นด้วยปัจจัยด้านความเจริญด้านการแพทย์และสาธารณสุข คาดการณ์ว่าในอนาคตจะเกิดกลุ่มผู้สูงวัยที่เรียกว่า The Oldest Old หรือกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 85 ปี เพิ่มมากขึ้น ขณะที่จำนวนการเกิดลดลง ส่งผลให้จำนวนประชากรโดยรวมลดลงเช่นกัน

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มในการนำเทคโนโลยี ทั้งเรื่อง AI (Artificial Intelligence) และ IoT (Internet of Thing) มาใช้สร้างนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อผู้สูงวัยมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัยนั่นเอง.