ทุ่ม 100 ล้านคัดกรองความเสี่ยงในทารก สปสช.ตั้งงบปี 2563 ดูแลเพิ่ม
นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวเปิดให้บริการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป ว่า กลุ่มอาการดาวน์เป็นโรคทางพันธุกรรม โดยเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมจะมีระดับสติปัญญา (ไอคิว) ต่ำมีพัฒนาการช้า มีหัวใจและต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติแต่กำเนิด กระทบกับการใช้ชีวิต ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาไทยมีการตั้งครรภ์อยู่ 700,000 ครรภ์ต่อปี มีทารกเกิดใหม่เป็นดาวน์ซินโดรมปีละ 1 พันคน หากไม่ทำอะไรเลยสถานการณ์อาจจะแย่ลง ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมที่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายปกติตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อคน ล่าสุด รัฐบาลจัดสรรงบ 100 ล้านบาท ผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดนำร่องตรวจเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปเพิ่มจากสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับเกี่ยวกับการดูแลหญิงตั้งครรภ์ เพื่อคัดกรองความเสี่ยงว่าทารกในครรภ์มีภาวะดาวน์ซินโดรมหรือไม่
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีความพร้อมเป็นจุดรับตัวอย่างเลือดทั่วประเทศ เพื่อมาตรวจหาความเสี่ยงซึ่งจะทราบผลภายใน 7 วัน
นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นบริการให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปี ในทุกสิทธิการรักษาและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้สิทธิเพิ่มเติม โดยคาดว่าภายในปี 2563 จะสามารถตั้งงบสำหรับตรวจหญิงตั้งครรภ์ได้ทุกช่วงวัย
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในจำนวนหญิงตั้งครรภ์ 7 แสนคนต่อปี พบว่ามีประมาณ 1 แสนคน เป็นหญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปเป็นวัยที่มีความเสี่ยงให้กำเนิดทารกดาวน์ซินโดรมมากกว่าวัยอื่น 2-4 เท่า ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่เกิดจากแม่อายุเกิน 35 ปีขึ้นไปเป็นดาวน์ซินโดรม 1 ต่อ 800 คน ส่วนเด็กที่เกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 35 ปีลงมา เป็นดาวน์ฯ 1 ต่อ 1 พันคน ซึ่งการรู้ก่อนจะช่วยให้ครอบครัววางแผนได้ หากทารกมีความผิดปกติมาก พิการซ้ำซ้อนอาจจะตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ หากทารกมีความผิดปกติไม่มาก และครอบครัวมีความพร้อมต้องการตั้งครรภ์ต่อ ก็จะมีการช่วยวางแผนการดูแลเด็กต่อไป.
...