รัฐบาลยันพร้อมสนับสนุนการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตั้งเป้าหมายสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ให้ได้ 60 คนต่อประชาชน 1หมื่นคน เตรียมดึงนักวิจัยภาครัฐ-เอกชนทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น พร้อมหาทางปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยี

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท. ) จัดงาน พสวท.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 3 วันที่ 8 - 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และรมว.ยุติธรรม เป็นประธานเปิดงาน

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) กล่าวรายงานว่า สสวท.ได้ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.)ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมาเพื่อเตรียมกำลังคนที่มีคุณภาพสูงและมีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เข้มแข็งให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนวัตกร เพื่อศึกษาวิจัย ประดิษฐ์ และคิดค้นผลงานทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (หรือ วทน.)ให้ขับเคลื่อนและเสริมสร้างศักยภาพของประเทศเพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

...



กว่า 30 ปีที่ผ่านมาสสวท.ได้ผลิต "บัณฑิตพสวท."ที่มีศักยภาพสูงประมาณ 1,200 คน เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ โดยสร้างผลงานวิจัย และผลิตผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุณภาพสูงเป็นที่ประจักษ์ รวมถึงได้รับรางวัลต่างๆ ที่สำคัญทั้งในระดับนานาชาติที่มากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้น เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยของ บัณฑิตพสวท.เหล่านี้สู่สาธารณชน และเพื่อส่งเสริมให้บัณฑิตพสวท.ทำงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นกลไกหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สสวท.จึงได้จัดงาน "พสวท.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม"ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2559 จนถึงปัจจุบัน ปี 2561 นับเป็นครั้งที่ 3

ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯและรมว.ยุติธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในการเปิดงาน หัวข้อ "ระดมนักวิทย์ฯ ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนา พาไทยก้าวหน้าสู่ Thailand 4.0" ว่า หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐบาลจึงตั้งเป้าว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า จะต้องสร้างนักวิทยาศาตร์รุ่นใหม่ให้มีสัดส่วน 60 คนต่อประชาชน 10,000 คน ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือต้องเพิ่มทุนการศึกษาเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น และกำหนดงานให้นักวิทยาศาสตร์ที่เรียนจบออกมามีงานทำชัดเจน สามารถบรรจุในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ที่มีความสอดคล้องกับทุนต่างๆ ของรัฐบาลด้วย



ขณะเดียวกันรัฐบาล ต้องประสานกับภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยมาร่วมกำหนดเป้าหมาย ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดเช่น 5 หรือ 10 ปี โดยนำนักวิจัยจากภาครัฐและภาคเอกชนมาทำงานร่วมกันในหัวข้อต่างๆ เช่นการสร้างผลิตภัณฑ์ให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค กำหนดงบประมาณทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง และที่สำคัญนวัตกรรมที่คิดออกมา วิจัยออกมาจะต้องใช้งานได้จริง

"รัฐบาล ยังจะช่วยปลดล็อคกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น อาทิ ขั้นตอนกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม การลดเวลาในการพิจารณาคุณสมบัติจากองค์การอาหารและยา (อย.) กระบวนการจดสิทธิบัตรต่างๆ จะต้องรวดเร็วขึ้น เป็นต้น"พล.อ.อ.ประจินกล่าว



ทั้งนี้ ภายในงาน ยังมีนิทรรศการผลงานวิจัยต่อยอดองค์ความรู้ที่สร้างประโยชน์ต่อชีวิต สังคมและการพัฒนาด้านต่าง ๆและมีกิจกรรมเสวนาที่น่าสนใจทางด้านวิชาการอีกมากมาย อาทิ "Leveraging R&D Skills for Innovative Solutions to Real-World Problems" โดยศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้ง ผู้แทนจากภาคเอกชน

"การส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ปฏิบัติงานได้เต็มตามศักยภาพ"โดย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) และที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สวทช. ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)