ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โรคมะเร็ง คือสาเหตุการตาย อันดับ 1 ของคนไทย
โดยมีมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นปัญหาสำคัญ 5 อันดับแรก
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก บอกว่า 1 ในคำถามสำคัญที่เขามักได้ยินเสมอ ก็คือ เมื่อเป็นมะเร็งแล้ว จะใช้ชีวิตอย่างไรให้เป็นสุข?
เขาบอกว่า การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมด้วยในการรักษา ปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น
“คนที่เป็นมะเร็งมักนึกถึงแต่ความตายเบื้องหน้า หรืออนาคตที่ห่อเหี่ยว ทำให้มีผลต่อร่างกายและจิตใจตามมา ปัจจุบันการรักษามะเร็งมีหลายวิธี เช่น เอามีด เอาปืนฉายแสง ไปตัดหรือหั่นก้อนเนื้อร้าย หรือใช้วิธีเอาภูมิต้านทานของร่างกายตัวเองไปจัดการกับเซลล์มะเร็ง เป็นต้น”
นพ.เกียรติภูมิบอกว่า การแพทย์แผนไทยไม่ได้เน้นฆ่าที่ตัวมะเร็งโดยตรง แต่ใช้วิธีรักษาแบบองค์รวม คือ ใช้หลากหลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้มีผลในการบำรุงสุขภาพ รักษาโรค ทำให้สภาพร่างกายและจิตใจ กลับฟื้นคืนสู่สภาพปกติ หาสาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดความสมดุล ลดส่วนเกิน และแก้ไขส่วนที่ขาด
...
ส่วนการใช้สมุนไพรบางอย่างซึ่งมีฤทธิ์ทางยานั้น นพ.เกียรติภูมิบอกว่า ทางที่ดีควรปรึกษากับแพทย์แผนปัจจุบันก่อน เพราะแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยโรคมะเร็งจนพบเซลล์มะเร็ง จะรู้ดีว่าสมุนไพรบางตัว หากใช้มากไปจะเกิดผลเสียตามมา
ยกตัวอย่าง ชะพลู ถ้าอยู่ในอาหาร คนเราจะกินได้ไม่มากเท่าไร จึงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้านำไปใช้ในรูปแบบของยาสมุนไพรล้วนๆ หากกินเข้าไปมากเกิน อาจทำให้เกิดนิ่ว หรือกรณีของหญ้าดอกขาว ซึ่งมีโปแตสเซียมสูงก็เช่นกัน ผู้ที่มีปัญหาไตไม่ดี ถ้ากินเข้าไปมาก ก็อาจเป็นอันตรายได้ เป็นต้น
อธิบดีฯยังได้ยกตัวอย่างการค้นคว้าวิจัยยาสมุนไพร เพื่อนำไปใช้รักษาโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯได้มีการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดตามตำรับยา “เบญจอำมฤตย์” ในผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับ ที่โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี
ส่วนประกอบของยาตำรับนี้ ได้แก่ ดีปลี พริกไทย ทนดี ขิงแห้ง ยาดำ หรือ ว่านหางจระเข้ มะกรูด ดีเกลือ มหาหิงคุ์ และ รงทอง ซึ่งทำออกมาในรูปแคปซูลบรรจุผงสมุนไพร มีสรรพคุณทางยาช่วยฟอกอุจจาระ ชำระล้างลำไส้ที่เป็นเมือกมัน ถือเป็นอีก 1 ในความพยายามเพื่อเอาชนะมะเร็งด้วยการแพทย์แผนไทย
นพ.ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ แพทย์ประจำศูนย์มะเร็งอุบลราชธานี บอกว่า การรักษามะเร็งต้องมีพระเอกหลายคน หรือต้องใช้แพทย์ และการแพทย์หลายสาขา ช่วยกันจัดการกับมะเร็ง
“เมื่อก่อนผมเห็นคนไข้มะเร็งเดินถือขวดน้ำสมุนไพรมา รู้สึกตงิดๆ แต่เดี๋ยวนี้ผมเปลี่ยนความคิดใหม่แล้ว ทำยังไงก็ได้ขอให้คนป่วยมีแรงกาย แรงใจ หรือมีพลังไปต่อสู้กับโรค จริงๆแล้วมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าเป็นในระยะที่ 1 ซึ่งมะเร็งยังอยู่กับที่ และยังมีขนาดเล็ก หรือระยะที่ 2 เริ่มมีขนาดโตขึ้นมาหน่อย แต่ปัญหาอยู่ที่ ทั้งสองระยะนี้ เจ้าตัวมักจะไม่รู้ หรือยังไม่แสดงอาการ”
หมอธนุตม์บอกว่า ดังนั้น ถ้าสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นมะเร็ง อย่าถามจากคนข้างบ้าน อย่ามโนหรือคิดเอาเอง และอย่าเชื่อตามที่อ่านมาจากสื่อสังคมออนไลน์ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ รีบไปให้หมอวินิจฉัย “เพราะยิ่งเมื่อรีบหามะเร็งให้เจอเร็วมากเท่าไร แล้วรีบรักษาให้ทัน โอกาสหายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น พวกโปรแกรมตรวจสุขภาพเอกซเรย์ปอด 170 บาท ไม่ได้ช่วยอะไร แค่ทำให้สบายใจขึ้น แต่ไม่มีประโยชน์ในการช่วยค้นหามะเร็ง ที่ตรวจด้วยเอกซเรย์แล้วได้ผล มีแค่มะเร็ง 4 อย่างเท่านั้น คือ มะเร็งเต้านม ตับ ทางเดินท่อน้ำดี และมะเร็งปากมดลูก”
ส่วนเรื่องอาหารการกินของผู้ป่วยมะเร็งนั้น หลายคนหันหลังให้กับเนื้อสัตว์ทุกชนิดไปเลย เพราะเชื่อว่าขั้นตอนการเลี้ยง มีการใช้สารเร่งมะเร็ง แต่ นพ.ธนุตม์กลับเห็นว่า
“ผู้ป่วยมะเร็งควรกินอาหารแบบเมนูที่มีขายในร้านสุกี้ชื่อดังของเมืองไทยนั่นแหละดีที่สุด คือ ทั้งผักและเนื้อสัตว์ต้องได้มาตรฐาน และผ่านการปรุงสุกทุกชิ้น เพื่อให้สามารถอยู่กับมะเร็งได้อย่างเป็นสุข ผมจะบอกกับผู้ป่วยเสมอว่า มันก็แค่มะเร็ง...ไม่ได้เป็นตั้งมะเร็งซะหน่อย จะได้มีกำลังใจสู้”
พญ.ฉันทนา หมอกเจริญพงศ์ แพทย์ประจำสถาบันมะเร็งแห่งชาติ บอกว่า 70-80% ของคนไข้มะเร็ง จะมีอาการปวดรุนแรงจนรู้สึกอยากตาย หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ
“จะอยู่กับมะเร็งอย่างมีความสุข ก่อนอื่นเราต้องรู้ความหลากหลายในการจัดการกับมะเร็งอย่างเข้าใจ นั่นก็คือ ต้องไม่ปล่อยให้จิตใจห่อเหี่ยว และร่างกายทรุดโทรม ทุกวันนี้เราสามารถใช้การฝังเข็ม หรือการแพทย์ทางเลือกต่างๆ ช่วยลดอาการปวด หรือใช้ยาสมุนไพร การทำสมาธิ และการนวดแบบผ่อนคลาย เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงขึ้นได้ พอร่างกายและจิตใจเราแข็งแรงขึ้น ก็จะมีโอกาสเอาชนะมะเร็งได้ดีขึ้น”
ส่วนด้านอาหารการกินนั้น พญ.ฉันทนาบอกว่า ส่วนใหญ่แล้วคนไข้มะเร็งไม่ได้ตายเพราะมะเร็ง แต่ตายเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด ขาดสารอาหาร เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ และ มะเร็งกระจายไปกดเบียด กับอวัยวะอื่น ตามลำดับ
เธอจึงแนะนำว่า พวกวิตามิน อาหารเสริม ซิริเนียม กรดโฟลิก หรือกรดอะมิโนทั้งหลายที่คนเป็นมะเร็งมักนิยมไปหามากินกันนั้น แทบไม่ได้ช่วย หรือไม่ได้ทำให้คนที่เป็นมะเร็งมีชีวิตอยู่รอดมากขึ้นเลย ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยรายนั้นกินอะไรไม่ได้เลยเท่านั้น แถมบางอย่าง เช่น ซิริเนียม กินเข้าไปแล้วกลับยิ่งไปเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเสียด้วยซ้ำ
“การรักษามะเร็งนั้น มวลกล้ามเนื้อเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น อย่างน้อยผู้ป่วยมะเร็งควรกินข้าวมื้อละไม่น้อยกว่า 1 ฝ่ามือตัวเอง กินโปรตีนไม่น้อยกว่ามื้อละ 1 กำมือ และขนาดของชิ้นโปรตีนไม่ควรเล็กกว่า 1 ฝ่ามือด้วย เพราะการต่อสู้กับมะเร็งนั้น เหมือนกับการไปออกศึก จะต่อกรเพื่อเอาชนะมะเร็งได้ ก่อนอื่นร่างกายคนไข้ต้องแข็งแรง”
วันทนี เจตนธรรมจักร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย บอกว่า ทุกวันนี้บทบาทของการแพทย์แผนไทยในการรักษามะเร็งมักจะทำคู่กันไปกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน
“คนไข้ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์แผนไทยเมื่อเป็นมะเร็งในระยะท้ายของโรคแล้ว เช่น มาในระยะ 3 หรือ 4 ด้วยอาการวูบวาบ หนาวๆ ร้อนๆ กินอาหารได้น้อยลง ร่างกายซูบผอม การรักษาจึงต้องดูตามสภาวะของคนไข้แต่ละราย เช่น ให้ยาที่กินแล้วช่วยระบายพิษ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ หรือช่วยปรับระบบสมดุลในร่างกาย”
วันทนีบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการอยู่ร่วมกับมะเร็งอย่างมีความสุข ก็คือ ควรใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติสุข ด้วยการดูแลตัวเองให้ดี ถึงเวลาทานข้าว หรือทานยา ต้องทาน
“กรณีที่อยากทานอะไรมากจริงๆ แต่มันเป็นของแสลงกับมะเร็ง ให้ใช้วิธีชิมเพื่อพอรู้รส เช่น สักแค่ 1 ช้อนชา พอกินแล้วอาการไม่ดี วันหลังก็จะรู้ตัวเองว่า ต่อไปเราไม่ควรกิน เท่านี้ชีวิตก็อยู่กับมะเร็งได้อย่างเข้าใจและเป็นสุข”.