"กฤษฎา" เรียกเอกชนหารือดันใช้ยางในประเทศแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หลังเกษตรกรร้องรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ขณะที่โครงการงดกรีดยาง 3 เดือน เล็งตั้งเงื่อนไขใช้ถ้วยยาง-นับรอยกรีด แลกเงินชดเชยรายได้เกษตรกร



เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 61 นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการหารือร่วมกับชาวสวนยางภาคใต้ ว่า ปัจจุบันได้รับการร้องเรียนถึงปัญหาราคายาง และมาตรการที่ภาครัฐเข้าไปแก้ปัญหายังไม่ตรงจุด เช่น การรับซื้อยางเพื่อหน่วยงานรัฐยังล่าช้า การตั้งจุดรับซื้อเพียงบางพื้นที่ การที่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แจกปุ๋ยไม่ตรงกับความต้องการ เป็นต้น โดยในส่วนของการใช้ยางในหน่วยงานรัฐที่มีความล่าช้านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นช้า เมื่อเทียบกับการใช้งบประมาณรัฐที่เริ่มต้นไปก่อนหน้าตั้งแต่วันที่ ต.ค. 60 ส่งผลให้หน่วยงานรัฐบางส่วนทำการประมูลไปแล้ว แต่ปัจจุบันเมื่อนโยบายมีความชัดเจน หลายหน่วยงานก็มีความต้องการใช้ยางในประเทศมากขึ้น โดยขณะนี้มีการใช้ยางแล้ว 3,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 ก.พ. 61 จะเรียกหน่วยงานเอกชนและผู้ประกอบการแปรรูป อาทิ บริดสโตน มิชลิน เป็นต้น เข้ามาหารือที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาแนวทางในการใช้ยางแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มการใช้ยางในประเทศมากขึ้น



สำหรับโครงการชะลอกรีดในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 61 จำนวน 3 ล้านไร่ เพื่อช่วยดันราคายางพารา ซึ่งอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นนั้น เบื้องต้น กำหนดจะใช้เงินกลางปีจ่ายชดเชยรายได้ของเกษตรกร เบื้องต้นกำหนด 1,500 บาทต่อไร่ ไร่ละไม่เกิน 10 ราย โดยแนวทางเบื้องต้นจะตั้งเงื่อนไขให้ชาวสวนยางต้องเอาถ้วยยาง ซึ่งคือ ภาชนะที่รองรับน้ำยางในการกรีดยางมาแลกเงินชดเชยรายได้ และจะคืนให้เมื่อครบกำหนดระยะเวลา รวมทั้งจะขอความร่วมมือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันรอยกรีดช่วงก่อนและหลังโครงการ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะหารือนายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง



...

"ส่วนการซื้อปุ๋ยเพื่อแจกให้กับชาวสวนยางนั้น จะเปลี่ยนจากเดิมที่เกษตรกรสามารถเอาใบเสร็จการซื้อปุ๋ยมาเบิกเงินสดจาก กยท.ได้ แต่วิธีการดังกล่าวเกิดปัญหาเกษตรกรบางรายไม่ได้ซื้อปุ๋ยจริงแต่ใช้วิธีอย่างไม่ถูกต้องเพื่อซื้อใบเสร็จ และนำมาเบิกจ่ายเงิดสดจาก กยท. ดังนั้น กยท.จึงเปลี่ยนวิธีการโดยซื้อปุ๋ยแจกแทน แต่ก็มีการร้องเรียนจากเกษตรกรว่าเป็นปุ๋ยชนิดที่ไม่ตรงกับความต้องการอีก ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาหาแนวทางแก้ไขอีกครั้ง"



นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การใช้ยางของหน่วยงานรัฐนั้น ยังพอมีเวลาที่จะสามารถตั้งงบประมาณถึงปี 62 คาดว่าความต้องการใช้ยางจะมีอย่างน้อย 200,000 ตัน ความหวังในขณะนี้คือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกันกระทรวงเกษตรฯ ด้วย และหากสามารถดำเนินการคู่ไปกับการโค่นยางปีละ 400,000 ไร่ จะส่งผลให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งการดำเนินการของรัฐบาล ปัจจุบันราคายางได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้วจากกิโลกรัม (กก.) ละ 42 บาทเป็น 47บาท และราคายางส่งออก (เอฟโอบี) อยู่ที่กิโลกรัมละ 53 บาท คาดว่าจากนี้ไปราคายางจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง.