สสส.รุกสร้างพลเมืองตื่นรู้มีสุขภาวะปัญญา

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นัดแรกหลังเข้ารับตำแหน่งประธาน สสส.คนใหม่ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งเน้นยุทธศาสตร์ปี 2561 ในการสร้าง “พลเมืองตื่นรู้” ใน 3 ประเด็นคือ รู้เท่าทันสื่อยุค 4.0 ฉลาดรู้สุขภาพ สุขภาวะทางปัญญา เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคสื่อเปลี่ยนวิถีชีวิต ประชาชนทุกคนคือผู้ผลิตและผู้ใช้สื่อสมาร์ทโฟนคือศูนย์กลางของสื่อยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเด็กไทยอายุ 6-14 ปี ใช้อินเตอร์เน็ตในอัตราสูงขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 61.4 ในปี 2559 สูงขึ้นจากร้อยละ 58 ในปี 2558 เยาวชนมีโอกาสเข้าถึงสื่อไม่ดีมากกว่าสื่อดี เนื่องจากผลสำรวจพบว่าช่วงเวลาสำหรับเด็ก มีการเผยแพร่สื่อที่ปรากฏเนื้อหาความรุนแรงถึงร้อยละ 57 มีเนื้อหาและการใช้ภาษาส่อทางเพศและหยาบคายถึงร้อยละ 53 และร้อยละ 9 ตอกย้ำอคติ/การเลือกปฏิบัติ เช่น ขาวกว่าก็ชนะได้ อีกด้วย

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันสื่อส่งผลกระทบต่อประชาชนแต่ละช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กเยาวชน จากผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากสื่อออนไลน์ทั้งด้านการเรียน สุขภาพ บางคนเข้าสู่ภาวะติดอินเตอร์เน็ต และร้อยละ 29 เคยถูกคุกคามทางเพศผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะที่วัยทำงานใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง เข้าสู่ภาวะเนือยนิ่ง ส่งผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคออฟฟิศซินโดรม สร้างสังคมก้มหน้า และความสัมพันธ์แบบเสมือน และผู้สูงอายุ 75% ใช้สื่อโซเชียลมีเดียโดยไม่รู้เท่าทัน มีสัดส่วนการส่งต่อภาพไม่เหมาะสม โดยไม่ตรวจสอบสูงถึงร้อยละ 30 ทั้งนี้ในปี 2561 สสส.จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย เน้นขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนานโยบาย สร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นฐานสู่นักสื่อสารสุขภาวะในกลุ่มวัยต่างๆ สร้างพลเมืองตื่นรู้ที่สามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

...

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า จากผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสหรือ ITA ประจำปี 2560 ที่ประเมินโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นที่น่ายินดีว่า สสส.มีผลประเมินอยู่ในระดับสูงมาก ได้คะแนนร้อยละ 91.61 และมีผลประเมินอยู่ในระดับสูงมากอย่างต่อเนื่องจากปี 2558 ได้คะแนนร้อยละ 79.16 และร้อยละ 81.41 ในปี 2559 ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินทั้งหมด 422 หน่วยงาน สสส.มีผลประเมินอยู่อันดับที่ 26 และเป็นอันดับ 3 ของหน่วยงานในกลุ่มเดียวกัน จึงขอชื่นชมและเชื่อว่า สสส.จะรักษาระดับการดำเนินงานตามเป้าหมายและพันธกิจขององค์กรต่อไป.