ช่วงระยะหลัง เราจะได้เห็นการเปิดแฟนเพจเฟซบุ๊กที่เฉพาะทางมากขึ้น หากนึกไม่ออก ให้ลองจินตนาการ แฟนเพจเฟซบุ๊กที่เน้นท่องเที่ยว เน้นการรีวิวสินค้า เน้นอาหาร หรือเฟซบุ๊กที่เล่าเรื่องในต่างแดน 

ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับคนไทยที่ไปเรียนอยู่ที่ประเทศจีน และเขาก็ได้ทำแฟนเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า  อ้ายจง ที่มีคนติดตามกว่าหนึ่งแสนคน โดยเขาได้บอกเล่าเรื่องราวในเมืองจีน ที่ใครหลายคนถึงกลับร้องว่า มีแบบนี้ด้วยหรือ เอาเป็นว่าเราจะพาไปรู้จักเขากัน  

-อยากให้แอดมินอ้ายจงแนะนำตัวเอง

ผมปอ ภากร กัทชลี เรียนจบจากสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ขอทุนการศึกษาของรัฐบาลจีนทั้งโท-เอก มาเรียนต่อทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยการบินและอวกาศแห่งปักกิ่ง หรือ มหาวิทยาลัยเป่ยหัง 

โดยตอนนี้กำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซีเตี้ยน เมืองซีอาน หากใครนึกไม่ออกว่าผมอยู่เมืองไหน ให้นึกถึงเมืองที่มีสุสานทหารม้าของจิ๋นซีฮ่องเต้ มาถึงตรงนี้ร้องอ๋อ กันทั่วหน้า

นอกจากนี้ ผมยังร่วมหุ้นกับพี่ๆ ที่สนิทกัน รับให้คำปรึกษาและทำการตลาดออนไลน์จีน ภายใต้ชื่อ MangoAds China ซึ่งมีบริษัทแม่คือ K Innovation บริษัทดิจิตอลเอเจนซี่ของไทย

...

-ทำไมถึงเปิดเพจ อ้ายจง และทำมากี่ปีแล้ว 

ผมตัดสินใจเปิดเพจอ้ายจง มาตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2013 ซึ่งผมมาอยู่เมืองจีนตั้งแต่ปี 2011 ผมอยากนำเสนอประสบการณ์การใช้ชีวิตของผม เพื่อให้คนที่ไทยได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับจีนในทุกแง่มุม

"ตอนนี้คนจีนก็เข้ามาในไทยเยอะ ทั้งแง่ท่องเที่ยว ค้าขาย เศรษฐกิจ เราจึงควรรู้เขารู้เราเกี่ยวกับจีน และต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ ข่าวสารเกี่ยวกับจีนในไทย มักจะมาในแง่เดียว ที่อาจจะไม่ดีนัก หรือคลาดเคลื่อน ในฐานะที่อยู่ในจีนค่อนข้างนาน เลยอยากจะนำเสนอจากประสบการณ์ของตนเอง รวมทั้งข่าวสารที่นี่ ให้กับคนไทย"

ส่วนสาเหตุที่ที่เลือกเปิดในวันแม่ 12 สิงหาคม ก็มาจากการที่เราตั้งใจนำเสนอสิ่งดีๆ จึงเลือกเปิดในวันดีๆ ทำเพื่อแม่ ทั้งแม่ของเรา และแม่ของแผ่นดินครับ

นอกจากนี้ ผมได้ขยับขยาย อุดมการณ์ที่จะทำให้คนไทยได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับจีนมาเป็นทำเพจใน Weibo โซเชียลยอดนิยมของจีน ภายใต้ชื่อ 很泰国 (มันไทยมาก) เพื่อนำเสนอเรื่องราวไทยไทยทุกแง่มุม ให้คนจีนได้เข้าใจเช่นกัน โดยตอนนี้มีคนจีนกดติดตาม (follower) กว่าหนึ่งแสนคน

อยากให้เล่าเรื่องความประทับใจในการทำเพจ เช่น มีเรื่องราวไหนที่โพสต์และได้รับการตอบรับที่ดี หรือ มีโพสต์ไหนที่ทำให้คนอ่านประทับใจ

จริงๆ แล้วทุกเรื่องราวที่โพสต์ในเพจ ประทับใจและชอบมากทุกโพสต์เลย เพราะเหมือนเราได้นำเสนอเรื่องราวที่นี่ บอกเล่าให้คนที่ไทยได้รับรู้ เหมือนเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง

ทั้งนี้ ผมขอยกให้อันดับหนึ่ง คือ โพสต์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งผมมีความตั้งใจนำเสนอความคิดเห็นของคนจีนในโลกโซเชียล ที่แสดงให้เห็นว่า คนจีนจำนวนไม่น้อย รักและเคารพพระองค์ ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำได้ แม้ตัวจะอยู่ห่างไกล ต่างบ้านต่างเมือง

นอกจากนี้ ก็โพสต์เล่าชีวิตในจีน เป็นการบอกแง่มุมในอีกมุมหนึ่งที่คนไทยเราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับจีน หลายๆ ความคิดเห็นที่ส่งเข้ามา ก็ทำให้ประทับใจและมีกำลังใจให้ทำต่อไป

เช่น บอกว่า อ่านโพสต์ของอ้ายจงแล้ว ทำให้เปลี่ยนความคิดใหม่เกี่ยวกับคนจีนไปเลย หรือ อ่านแล้วอยากมาเที่ยวจีนเลย มันถือว่าเราบรรลุจุดประสงค์แล้ว ที่เราต้องการทำให้คนไทยได้รับรู้ทุกแง่มุม และเข้าใจจีนมากขึ้น 


-ในฐานะที่แอดมินใกล้ชิดกับคนจีน เรามีความรู้สึกอย่างไรกับคนจีนรุ่นเก่า และคนจีนรุ่นใหม่

ส่วนตัวผมรู้สึกว่าทั้งคนจีนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ต่างมีเสน่ห์หากเราได้สัมผัสใกล้ชิดกับพวกเขาจะเปลี่ยนมุมมองของเราที่เคยมองคนจีน ในก่อนหน้านี้ที่เราอยู่เมืองไทย

อย่างคนจีนรุ่นเก่า จะค่อนข้างเจอความยากลำบากมาในยุคที่เริ่มสร้างประเทศจีนยุคใหม่ ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น พอมายุคใหม่ ที่บ้านเมืองเจริญ ชีวิตสบายมากขึ้น แต่คนยุคเก่าก็ยังอาจจะยังยึดมั่นกับชีวิตในสมัยนั้น

มีกรณีหนึ่งในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ในประเทศจีน มีผู้เสียชีวิตหลายคนจากอาการฮีตสโตรก จากการที่ร่างกายปรับตัวไม่ทันจากอากาศร้อน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ คนรุ่นเก่า โดยมีอยู่รายหนึ่ง มีสาเหตุมาจาก "ไม่เปิดแอร์ แม้อากาศจะร้อนจัดแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากกลัวเปลือง กลัวลูกหลานจะว่า"

ทั้งนี้ ฤดูร้อน หลายพื้นที่ในจีนโดยเฉพาะทางโซนเหนือ อากาศจะร้อนจัด และแห้ง แสบผิวยิ่งกว่าไทยเสียอีก

สำหรับคนจีนยุคใหม่ เริ่มเปิดรับวิถีแบบสากลมากขึ้น เริ่มเรียนรู้ว่าอะไรโอเค และไม่โอเคสำหรับสากลที่มองจีน และก็เริ่มปรับเปลี่ยน เช่น การถ่มน้ำลายลงพื้น เริ่มมีเห็นน้อยลง การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การแซงคิว เป็นต้น

- คนส่วนใหญ่ มีทัศนคติในเชิงลบว่าคนจีนไม่มีมารยาท แอดมินเคยสัมผัสมาเป็นเช่นนี้หรือไม่ อยากให้เล่าประสบการณ์ว่าเป็นอย่างไร

ตลอดเวลาที่อยู่เมืองจีนมีโอกาสพบปะคนจีนค่อนข้างหลากหลาย อย่างที่เรารู้กันว่าประเทศจีนมีประชากรจำนวนมาก พันกว่าล้านคน ซึ่งก็ต้องยอมรับตรงๆว่า เคยเจอ ซึ่งหลายๆ ครั้ง ที่เรามองว่า ไม่มีมารยาทตามความรู้สึกของเรา แต่เป็นเรื่องปกติ ในความรู้สึกนึกคิดของคนจีน อย่างเช่น การกินข้าว แล้วคายเศษอาหารไว้บนโต๊ะอาหาร โดยเฉพาะตามโรงอาหารในมหาวิทยาลัย

"ตอนผมเจอครั้งแรก ก็รู้สึกสตั๊นเล็กๆ แต่พอสังเกต และสอบถามจากคนจีนที่รู้จัก ก็พบว่ามันเป็นเรื่องปกติ เพราะเดี๋ยวก็มีคนมาเก็บ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อย ที่แม้จะคายลงบนโต๊ะ แต่จะเอากระดาษทิชชูวางไว้ก่อนครับ และเท่าที่สังเกต หลายคน ถ้าหากมีถังขยะเอาไว้ให้ใต้โต๊ะ เขาก็ทิ้งในถังขยะครับ"

ส่วนกรณีที่คนไทยเอ่ยถึงกันมาก คือ การเข้าแถวและแซงคิว จริงๆ เรื่องนี้จากการคุยกับเพื่อนๆ คนจีนรุ่นใหม่ๆ เขาก็มองว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่เขาก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องค่อนข้างปกติเหมือนกัน เขามองว่า มันเป็นอะไรที่ยอมกันได้ หากเราไม่ยอม และไปโต้เถียง เขามองว่าเสียเวลามากไปอีก ดังนั้น คำว่า หยวนๆ คำจากจีน ที่คนไทยคุ้นเคย ก็ยังคงใช้ได้เสมอ

มีอีกกรณี ที่อยากเล่าเหมือนกัน คือ การมองจ้อง และการพูดแสดงความคิดเห็นออกมา แม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยก็ตาม เราอาจจะรู้สึกว่า ไม่มีมารยาท ที่อยู่ๆ ก็มีใครมาจ้องเรา มามองเรา ทำให้เราเสียความมั่นใจไปเลย บางทีเรารู้สึกว่าเขาหาเรื่องด้วยซ้ำ

แต่ถ้าเราสงบใจลองหายใจลึกๆ แล้วยิ้มให้ หรืออาจจะถามไปตรงๆ ว่า มองอะไรหรือ เราอาจจะพบกับความประทับใจไม่รู้ลืมกลับมาก็เป็นได้

อย่างตัวผม เคยมีคนจีนมองจ้องเลย พอเรายิ้มให้เขาเป็นเชิงถามว่า มองอะไรเราหรอ มีอะไรผิดปกติ เขาก็ตอบมาตรงๆ ว่า "อากาศมันหนาวนะ ใส่แค่นี้พอหรือ ไปหาเสื้อกันหนาวมาใส่เพิ่มนะ"

สิ่งนี้ก็จะไปตรงกับ การพูดแสดงความคิดเห็นออกมาตรงๆ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ประทับใจมากเลยนะ บางทีเราไปร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ เราอาจจะได้รับความคิดเห็นจากพนักงานเสิร์ฟ

โดยที่เราอาจจะงงก็ได้ว่า มีเด็กเสิร์ฟแบบนี้ด้วยหรอ เช่น คนไทยติดกินเครื่องดื่มใส่น้ำแข็ง แม้จะหนาวเพียงใดก็ตาม แต่คนจีนจะมองว่า ไม่ดีต่อสุขภาพ พนักงานร้านก็จะบอกตรงๆ ว่า "ไม่ทำให้นะ ถ้าจะใส่น้ำแข็ง ก็ขอใส่นิดเดียวพอ"

"สรุปคือบางครั้งคำว่า เสียมารยาท มันก็อาจจะมาจากความคิดที่ไม่ตรงกัน ซึ่งความจริงแล้วก็แตกต่างไปแต่ละคนด้วย เราก็ควรมองหลากหลายมุม แต่ถ้าอะไรที่ผิดหลักมารยาทสากลจริงๆ อย่าง ใช้บริการแล้วไม่อยากจ่ายเงิน อะไรแบบนี้ ก็แล้วแต่ปัจเจกชนแล้ว ไม่เกี่ยวกับชนชาติ"

-เยาวชนเป็นบุคคลสำคัญที่จะมาเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศในอนาคต เท่าที่แอดมินสัมผัสมา เยาวชนคนรุ่นใหม่ของจีน เป็นอย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหนกันบ้าง เหมือน หรือต่างกับเยาวชนไทยมากน้อยแค่ไหน อยากให้แอดมินเล่าตั้งแต่ การเริ่มเข้าเรียนไล่เรียงจนถึงการแต่งงาน

การใช้ชีวิตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ของจีน จะว่าไปก็ไม่ค่อยต่างกับเยาวชนไทยเท่าไหร่ แต่ต้องยอมรับว่า พวกเขามีความกดดันที่มากกว่า โดยเฉพาะการศึกษา ตั้งแต่เด็ก จนเข้ามหาวิทยาลัย อย่างสอบเข้ามหาวิทยาลัยของจีน ที่เรียกว่า เกาเข่า (Gaokao) มีสอบปีละครั้ง เป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ได้รับขนานนามว่ายากที่สุดในโลก

ดังนั้น พ่อแม่จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูก ส่งเรียนพิเศษกันเต็มอัตรา หรือถ้าตามเขตชนบท ถึงเวลาสอบเกาเข่าทีหนึ่ง มีไปส่งขึ้นรถบัสเพื่อไปสอบในตัวเมืองกันทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล หรือแม้กระทั่งระดับอำเภอ

การศึกษาที่ว่าค่อนข้างกดดันสำหรับเยาวชนจีนแล้ว การแต่งงานใช้ชีวิตคู่ ก็กดดันมากเช่นกัน ที่เมืองจีน ค่อนข้างแต่งงานกันไว เรียนจบไม่กี่ปี ก็แต่งงานกันแล้ว

โดยเพื่อนคนจีนหลายคนบอกว่า พ่อแม่ที่มีลูกชายมักจะเก็บเงินไว้ให้ลูกตั้งแต่เด็ก เพื่อโตขึ้น จะได้เอาเงินไปแต่งงาน ไปขอสาวได้ โดยก่อนหน้านี้ จีนมีนโยบายมีลูกได้คนเดียว ดังนั้น พ่อแม่จึงทำทุกอย่างเพื่อลูกแบบเต็มที่ เลี้ยงแบบองค์ชายน้อย องค์หญิงน้อยเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ถ้าหากใครอายุค่อนข้างมากขึ้นเลย 25 ปีแล้ว ยังไม่มีแฟน ที่บ้านก็จะเริ่มกดดันแล้ว จนทำให้เกิดงานหาคู่ นัดบอดมากมาย โดยเฉพาะก่อนจบมหาวิทยาลัย ที่เริ่มมีงานนัดบอดสำหรับก่อนจบปริญญามากขึ้น หรือแม้กระทั่งมีการประกาศหาคู่ให้กับลูกหลานตามสวนสาธารณะเมืองจีน เพราะกลัวลูกหลานไม่มีคู่

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เริ่มมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ของจีน จำนวนไม่น้อย ที่เลือกจะแต่งงานช้า หรือไม่แต่งเลย ขอแค่มีหน้าที่การงานที่มั่นคงเลี้ยงดูตนเอง ได้ก็พอแต่ก็มีจำนวนไม่น้อยอีกนั่นแหละที่ครอบครัวรับไม่ได้ หากยังไม่แต่งงาน

- ในมุมมองของคนจีน เขามองคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง 

จากประสบการณ์ที่ใช้ชีวิตในจีน มักมีเพื่อนคนจีนบอกเสมอว่า คนไทยเป็นคนที่สนอกสนใจคนอื่นเสมอ เป็นคนที่จริงใจ ซื่อสัตย์ แต่ก็มีความเจ้าชู้ (ทั้งชายและหญิง) ที่ถือเป็นข้อด้อย

- ทิ้งท้ายอยากให้แอดมินเล่าเรื่องความประทับใจที่อยู่ร่วมกับคนจีน

ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ที่อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ประทับใจ เช่น การสนอก สนใจของคนจีน แม้เราไม่รู้จักกันเลย แต่เขาก็สนใจและห่วงเรา โดยเฉพาะสุขภาพ

อย่างเรื่องการกินดื่มน้ำเย็น การสวมเสื้อผ้า หลายครั้งที่ติดดื่มน้ำเย็น ติดใส่รองเท้าแตะ กางเกงขาสั้น ออกมาข้างนอก แม้อากาศจะเริ่มหนาว คนจีนที่พบเห็น แม้จะเดินสวนกันตามถนนหนทาง เขาก็จะทักเรา ว่าแบบนี้ไม่โอเคเลยนะ

การช่วยเหลือจากคนจีน ก็สร้างความประทับใจให้กับเรามากเช่นกัน ล่าสุด เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทำพาสปอร์ตตก ขณะขี่จักรยาน ก็มีคุณลุงชาวจีนขับสามล้อ บีบแตรไล่หลังเรามาตลอด เพื่อให้เราหันไป พอเราหันไป คุณลุงก็บอกทันทีว่าของเราตกนะ ให้กลับไปดู เรียกได้ว่า ขับรถมาตามเราเพื่อให้ไปเก็บของโดยเฉพาะ

เราอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาว่า คนจีนไร้น้ำใจ แม้เห็นคนโดนรถชนก็ไม่ช่วยเหลือ ตอนก่อนมาจีน ผมก็รู้สึกแบบนั้น เพราะเราได้รับสื่อมาแบบนั้น แต่พอเรามาใช้ชีวิตที่นี่ เราก็เริ่มรู้ว่ามีที่มาที่ไป

อย่างเช่น การไม่ช่วยเหลือกันของคนจีนในบางกรณีเป็นเพราะ กลัวจะเจอมิจฉาชีพ กลัวจะโดนปรักปรำว่าผิด เหมือนคดีดังเมื่อก่อน ที่คนจีนช่วยเหลือคนแก่ตกรถเมล์ นำไปส่งโรงพยาบาล แต่ปรากฏว่าโดนหาว่าเป็นคนทำร้ายเสียเอง

ในเวลาต่อมามีการผลักดันกฎหมายคุ้มครองพยาน และพลเมืองดี คนจีนก็เริ่มกล้าที่จะช่วยเหลือกันมากขึ้น โดยพื้นฐานต้องบอกว่า คนทุกคนย่อมมีทั้งดีและไม่ดี ไม่ว่าจะจีน ไทย หรือชาติใดก็ตาม

นอกจากนี้ สื่อจีนและทางการจีนเอง เขารณรงค์ให้คนในชาติรู้จักการทำความดี เอาใจใส่ซึ่งกันและกันมากขึ้น โดยการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นการให้ประชาชนซึมซับ และเห็นตัวอย่างที่ดี เราจะเห็นได้ว่า ตอนนี้ มีข่าวการทำความดี ข่าวโมเมนท์ประทับใจจากจีนมากขึ้น