“ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ ก็คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง”... พระราชดำรัสดังกล่าวของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” สะท้อนได้ดีถึงความเป็น “พระมหากษัตริย์ผู้ครองใจปวงชน” ความสุขของพระองค์หาใช่การประทับอยู่ในพระราชวังใหญ่โตโอ่อ่า รายล้อมด้วยข้าราชบริพาร หากแต่ความสุขของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้คือ การได้อยู่ท่ามกลางประชาชน
คนไทยทุกคนเกิดมาพร้อมกับหัวใจของ “ลูก” ที่รัก “พ่อ” และจะรัก “พ่อ” อย่างนี้ตลอดไปมิเสื่อมคลาย ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยปี “พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ก็ไม่ทรงละทิ้งประชาชน พระองค์จะยังคงสถิตอยู่กลางใจราษฎร์ตราบชั่วนิรันดร์ ในฐานะ “พ่อหลวง” ผู้เป็นที่เคารพรักเทิดทูนยิ่งของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ
“การเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ต้องเป็นตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาหยุดได้” ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 7 ทศวรรษ นับตั้งแต่ ทรงขึ้นครองแผ่นดิน ได้ทรงงานอย่างหนักและตรากตรำพระวรกายมายาวนาน เพื่อต่อสู้กับความยากจน และสร้างความอยู่ดีมีสุขแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ โดยได้พระราชทานพระราชดำริและโครงการพัฒนาไว้มากกว่า 4,350 โครงการ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี กินดี มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง มีการศึกษา มีอาชีพมั่นคง และดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี นับเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนให้ปวงชนชาวไทยมาจนถึงปัจจุบัน
“...เวลานี้เราทุกคนมีภาระสำคัญรออยู่ ที่จะต้องร่วมมือกันเสริมสร้างความเป็นปกติเรียบร้อยให้แก่บ้านเมือง เพื่อให้ประชาราษฎร์ชาติภูมิมีความผาสุกสงบ ภาระทั้งนี้มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ หากเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกฝ่ายทุกคนที่จะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำให้พรักพร้อม และสอดคล้องเกื้อกูลกัน โดยมีจุดมุ่งหมายและอุดมคติร่วมกัน ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำความคิดจิตใจให้หนักแน่นแน่วแน่ และเที่ยงตรงเสมอเหมือนกัน ที่จะร่วมมือร่วมคิดกันให้เต็มกำลังความสามารถและสติปัญญา ด้วยความสุจริตบริสุทธิ์ใจ และด้วยความสามัคคี ปรองดอง โดยยึดเอาประโยชน์ยั่งยืนยิ่งใหญ่ คือความมั่นคงผาสุกของบ้านเมืองเป็นเป้าหมายสูงสุด...” พระราชดำรัสดังกล่าวของ “พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ในการเสด็จออกมหาสมาคม งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2547 ตอกย้ำถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการทุ่มเททรงงานหนักอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชนของพระองค์ โดยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้เสด็จฯไปทรงงานพัฒนาราษฎรทั่วทุกถิ่นของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ ทรงวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการพระราชทาน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ และยังคงใช้ได้ดีสืบถึงปัจจุบัน
ในบรรดาพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,350 โครงการ ที่ล้วนเป็นการทรงงานเพื่อมุ่งประโยชน์สุข แก่ประชาชนและประเทศชาติ ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาดิน และการเกษตรไทย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ
ทุกครั้งที่เสด็จออกพัฒนาพื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญและถิ่นทุรกันดาร “พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” จะทรงเน้นย้ำว่า จะต้องไปทอดพระเนตรให้เห็นพื้นที่จริงๆ ต้องรู้เสียก่อนว่าพื้นที่นั้นในด้านภูมิศาสตร์และภูมิสังคมเป็นอย่างไร การเสด็จด้วยพระองค์เองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จะได้มีความรู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับพื้นที่นั้น และพระราชทานความช่วยเหลือได้ตรงกับความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ ทรงสนพระราชหฤทัยและศึกษาปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมองและเข้าใจถึงความจริงในทฤษฎีความสมดุลของธรรมชาติ อันได้แก่ ป่าไม้, น้ำ ดิน และสิ่งมีชีวิต ซึ่งพึ่งพิงกันอย่างมีปฏิสัมพันธ์และเชื่อมโยงด้วยวิถีทางธรรมชาติอย่างเป็นวัฏจักร ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“...อาจมีบางคนเข้าใจว่าทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่าภูเขาต้องมีป่าไม้อย่างนั้น เม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไปทำความเสียหาย ดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้เรื่องการอนุรักษ์และเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอด ตั้งแต่ดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ จะทำให้น้ำท่วม เรียนเรื่องนี้มาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ...”
พระราชกรณียกิจในทุกด้านนั้นทรงระมัดระวังมิให้เป็นการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพดีขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าพระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริด้านต่างๆ ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้, แหล่งน้ำ และฟื้นฟูสภาพดิน พระองค์ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ จนทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน น้อมนำเอาแนวพระราชดำริไปปฏิบัติตามจนเกิดผลประโยชน์มากมายทั่วประเทศ
และเนื่องจากประเทศไทยมีรากฐานจากสังคมเกษตรกรรม พระองค์จึงทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ด้านการพัฒนาเกษตรขึ้นมากมายอย่างต่อเนื่อง โดยจะทรงเน้นแก้ปัญหาของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ และแบ่งปันการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจนชั่วลูกชั่วหลาน ขณะเดียวกัน ยังเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางเกษตร ทั้งค้นคว้า, ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ หรือพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน ทรงให้ความสำคัญกับ “ดิน” เป็นพิเศษ ด้วยทรงเห็นว่าดินเป็นปัจจัยพื้นฐานเช่นเดียวกับน้ำ ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาที่ดิน เมื่อปี 2511 เพื่อพลิกผืนดินแห้งแล้งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์
การได้ใกล้ชิดกับประชาชน รู้จักกับพสกนิกรของพระองค์ รู้จักกับแผ่นดินของพระองค์ในทุกตารางนิ้ว ด้วยก้าวพระบาททั้งสองที่ลงสำรวจไปทั่วทุกอาณาเขตในราชอาณาจักรไทย คือความสุขของ “พ่อ” ความสุขที่ได้เห็นความอิ่มท้องของ “ราษฎร” ความสุขที่ได้วางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างเสถียรภาพของบ้านเมือง.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม