หนึ่งในภาพคุ้นชินที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศคือ ภาพของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพกแผนที่ไปด้วยทุกหนทุกแห่ง “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงต่อแผนที่ขนาดใหญ่กว่า 53 ซม. × 55 ซม. ด้วยพระองค์เองในสำนักงานส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นขนาดโดยประมาณของแผนที่ 1 ต่อ 50,000 จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร ปกติแผ่นหนึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 700 ตารางกิโลเมตร แต่พื้นที่เสด็จฯมักกว้างกว่านั้นมาก พระปรีชาสามารถในด้านแผนที่ล้วนสั่งสมมาจากประสบการณ์การใช้แผนที่ต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งเริ่มเสด็จออกเยี่ยมราษฎรทางภาคอีสาน ในปี 2498

คงไม่มีที่ไหนในโลกอีกแล้วที่พระมหากษัตริย์จะออกไปแล้วประชาชนมานั่งเล่าถึงความทุกข์ให้ฟัง แล้วพากันไปดูจนถึงหลังบ้าน ในแต่ละปี “พระบาทสมเด็จพระมหา ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” เสด็จออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจราว 500-600 ครั้ง รวมระยะทาง 25,000-30,000 กิโลเมตร ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรนั้นจะทรงเป็นกันเองอย่างมากกับประชาชน ทรงแทนพระองค์เองว่า “ฉัน” และจะทรงพอพระทัยมากหากได้ฟังข้อมูลจากปากของราษฎรเอง

ผู้ตามเสด็จต่างทราบดีว่าจะโปรดมากถ้าทรงพบราษฎรที่รู้ข้อมูลในหมู่บ้านดี บางคราวประทับกับพื้น จะทรงชวนคุยเรื่องทั่วๆไปก่อน จนเมื่อชาวบ้านเกิดความสบายใจแล้ว จึงค่อยๆขยับไปถามถึงการทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนปัญหาทุกข์ยากของพวกเขา ซึ่งมักวนเวียนอยู่กับเรื่องปัญหาด้านสุขภาพ

ด้วยทรงตระหนักดีว่าสุขภาพอนามัยของราษฎรเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ “พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” จึงทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข อันถือเป็นการตามรอย “สมเด็จพระบรมราชชนก” และ “สมเด็จพระบรม ราชชนนี” ในการพัฒนาและส่งเสริมด้านการสาธารณสุขของประเทศ

ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่างๆจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยแพทย์พระราชทานและหน่วยทันตกรรมพระราชทานออกหน่วยรักษาผู้ป่วยด้วยเสมอ

ย้อนกลับไปในช่วงต้นรัชสมัย ราวพุทธศักราช 2496 การแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยยังไม่เจริญนัก เกิดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรคเรื้อน, อหิวาตกโรค, โรคโปลิโอ และโรคเท้าช้าง การทรงงานของ “พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ในช่วงแรก จึงเน้นเรื่องการแพทย์และการสาธารณสุขเป็นหลัก เช่น พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า และผลิตยาป้องกันวัณโรค, พระราชทานเรือเวชพาหน์ เพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ริมแม่น้ำ, พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาหุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน เพื่อช่วยแพทย์ซักถามอาการผู้ป่วยโรคติดเชื้อ โดยการควบคุมจากระยะไกล และช่วยจิตแพทย์ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานทุนส่งเสริมการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ การก่อตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย เมื่อปี 2503 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อน และได้ขยายขอบเขตให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วยในปี 2540 นอกจากนี้ ทรงก่อตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในปี 2534 เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรและองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อมวลมนุษย์ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ

การพระราชทานทุนส่วนพระองค์เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดรัชสมัยของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็น “ทุนภูมิพล” ก่อตั้งในปี 2495 สำหรับพระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแพทย ศาสตร์ศิริราช ที่เรียนดีแต่ขาด แคลนทุนทรัพย์, “ทุนโปลิโอสงเคราะห์” ก่อตั้งในปี 2495, “ทุนปราบอหิวาตกโรค” ก่อตั้งในปี 2501 และ “ทุนวิจัยประสาท” ก่อตั้งในปี 2503

พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้โรค ระบาดที่เกิดในประเทศไทยเมื่อครั้งอดีตสงบลง และทำให้ประเทศ ไทยกลายเป็นประเทศผู้นำด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งภูมิภาคมาจนถึงปัจจุบัน

เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร “วันนวมินทรมหาราช” 13 ตุลาคม 2567 ไทยรัฐกรุ๊ปขอร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก” ซึ่งทรงห่วงใยในทุกข์สุขของปวงประชาราษฎร์ และทรงใช้ความเพียรอันบริสุทธิ์มาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ เพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทั้งประเทศ.


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ