“72 พรรษา พระราชาของแผ่นดิน”

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมีพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ถือเป็นมหามงคลสมัยพิเศษ ที่พสกนิกรของพระองค์จะได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยการน้อมนำพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอดในพระราชกรณียกิจของพระองค์

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงได้น้อมนำพระราชปณิธาน สืบสาน รักษาและต่อยอด สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของ “ป่าไม้” และ “แหล่งน้ำ” สู่การจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน จึงจัดทำ “โครงการ 72 ล้านต้นพลิกฟื้นผืนป่า” และ “โครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 72 แห่ง” เพื่อ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “โครงการ 72 ล้านต้นพลิกฟื้นผืนป่าจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูและรักษาสภาพป่าต้นน้ำ รวมถึงการคืนสภาพโครงสร้างของระบบนิเวศให้กับผืนป่าทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นการมุ่งไปสู่เป้าหมายสำคัญของประเทศไทยในการเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศและฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้มีความอุดมสมบูรณ์คืนอากาศสะอาดให้กับประชาชนและเพื่อการบรรลุสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 ขณะที่โครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 72 แห่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยเป็นการขยายผลต่อยอดจากโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากเดิมที่ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 47 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 25 จังหวัด จะขยายโครงการเพิ่มอีกจำนวน 25 แห่ง รวมเป็น 72 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทส.กล่าวถึง 2 โครงการที่เกี่ยวกับป่าและน้ำเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยทั้ง 2 โครงการจะดำเนินการในช่วง ระยะเวลาแห่งการเฉลิมพระเกียรติฯ และภายในช่วงเวลาที่เหมาะสม

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.ได้ฉายภาพรายละเอียดโครงการ 72 ล้านต้นพลิกฟื้นผืนป่า ว่า จะเริ่มดำเนินการในช่วงระยะเวลาแห่งการเฉลิมพระเกียรติฯ และภายในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการปลูกต้นไม้และปลูกป่า โดยมี 3 หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยเตรียมพื้นที่ไว้ในป่าอนุรักษ์และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ 72 แห่ง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ 72 แห่ง และพื้นที่ป่าชายเลนของ ทช. 72 แห่ง ส่วนกล้าไม้สำหรับนำไปปลูกเตรียมไว้ 72 ล้านกล้า เป็นกล้าไม้มีค่ากว่า 100 ชนิด

นอกจากนี้ จะมีการปลูกป่าในพื้นที่ของเอกชน ประชาชนทั่วไป พื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา ที่สาธารณะ ศาสนสถาน และพื้นที่อื่นๆด้วย เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการปลูกไม้มีค่าอย่างน้อยคนละ 1 ต้น โดยแต่ละจังหวัดจะอำนวยความสะดวกจัดเตรียมพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกต้นไม้เพื่อรองรับกิจกรรมปลูกต้นไม้ตามโครงการฯ โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด โดยจะนำกล้าไม้กระจายไปอยู่ใกล้บ้านของประชาชนให้ได้มากที่สุด

“ที่สำคัญ จะมีการระบุรายละเอียด พื้นที่ดำเนินการปลูกป่า เช่น ที่ตั้ง แผนที่ภูมิประเทศแสดงขอบเขตและค่าพิกัดรอบแปลงและเมื่อปลูกป่าแล้วเสร็จ ในปีแรกจะมีกิจกรรมบำรุงป่าอายุ 2–6 ปี และ 7–10 ปี ตามหลักวิชาการ โดยจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติงานการปลูกและบำรุงป่าไม้ในแต่ละปีให้ชัดเจน มีการจัดทำป้ายและหลักเขตแปลงปลูก มีการประเมินผลการปลูกต้นไม้หรือปลูกป่า การบำรุงรักษาป่า การป้องกันการบุกรุกทำลายด้วย” นายจตุรพร ระบุ

ขณะที่ โครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 72 แห่ง พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไว้เป็น “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” รวมโครงการ 3 ระยะ จำนวนทั้งสิ้น 47 โครงการ 48 แห่ง ครอบคลุม 25 จังหวัด

“ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค แต่มีศักยภาพน้ำบาดาลมากเพียงพอ สามารถดำเนินโครงการได้ในระยะต่อไปเพิ่มเติมจากเดิม 47 โครงการ 48 แห่ง ให้ได้ถึงเป้าหมาย 72 แห่ง อาทิ ในพื้นที่แพร่ เชียงราย อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กำแพง เพชร นครศรีธรรมราช สุโขทัย สระแก้ว บึงกาฬ ปัตตานี ฯลฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีผู้ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นกว่า 152,000 ครัวเรือน หรือ 450,000 คน และมีปริมาณน้ำบาดาลรวม 41 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี” นายจตุพร กล่าว ในที่สุด

โครงการเฉลิมพระเกียรติทั้ง 2 โครงการคือ “ป่า” กับ “น้ำ” เพื่อเป็นการ ถวายความ จงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธาน ด้วยการร่วมมือร่วมใจกันสนองพระราชดำริด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และการอนุรักษ์และเพิ่มแหล่งน้ำบาดาลจากทรัพยากรใต้ผืนดิน

เพื่อความมั่นคงและประโยชน์สุขแก่ประชาชนในแผ่นดินของพระราชา ที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่