การทำนุบำรุงประเทศชาติและประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุข ถือเป็นพระราชปณิธานยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ทรงตั้งพระราชหฤทัยในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าเสมอหน้า เป็นพระราชจรรยาที่สืบเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย
“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1” ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงรับอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 เมื่อทรงราชย์แล้วได้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อวางรากฐานบ้านเมือง ทั้งด้านอาณาจักรและศาสนจักร ทรงกระทำศึกสงครามป้องกันภัยจากอริราชศัตรู ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาพระไตรปิฎก ให้เป็นหลักฝ่ายพุทธจักร และทรงปฏิรูปชำระแบบแผนกฎหมายของบ้านเมือง ที่เรียกกันว่ากฎหมายตราสามดวง ให้เป็นหลักฝ่ายอาณาจักร พระราชปณิธานในรัชกาลที่ 1 ปรากฏชัดในพระราชนิพนธ์เรื่องนิราศท่าดินแดง ความว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก... ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา...รักษาประชาชนแลมนตรี”
“พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2” ทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ทรงฟื้นฟูราชประเพณีและศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเครื่องจรรโลงจิตวิญญาณชนในชาติ ขณะเดียวกันก็ทรงผ่อนปรนยกเลิกประเพณีกดขี่ล้าสมัย พร้อมทรงสั่งสอนขุนนางและราษฎรให้ตั้งมั่นในธรรมจรรยา โดยเฉพาะ ขุนนางต้องมีความสามัคคี, ซื่อสัตย์ และยุติธรรม ปราศจากอคติ เพื่อให้เกิดความสุขแก่ประชาชนทั่วหน้า ยุคนี้จัดเป็นยุคทองของวรรณกรรมและศิลปะทุกแขนง ทรงเป็นทั้งศิลปินและนายช่างชำนาญในสรรพศิลป วิทยา นอกจากจะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่นำความสงบสุขมาสู่บ้านเมืองแล้ว ด้านวิทยาการต่างๆก็ถือเป็นบรมครูด้วย ทรงมีความรู้ในด้านศิลปะผู้ค้นคิดวิทยาการเก่าๆ ของไทยเรา นับเป็นเครื่องเตือนใจอยู่เสมอว่า บ้านเมืองเรานี้ คนรุ่นเก่ามีความสามารถรักษาบ้านเมืองไว้ให้อยู่อย่างสงบสุข พอที่จะมีศิลปกรรมต่างๆ อันเป็นที่เชิดหน้าชูตามาได้อย่างเป็นระยะเวลาอันยาวนานไม่ขาดสาย
“พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3” ทรงพระปรีชาสามารถด้านเศรษฐกิจการพาณิชย์ มานับแต่ยังทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 2 ยังให้เกิดความมั่งคั่งต่อพระคลังหลวง เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระมหากรุณาเอาพระราชหฤทัยใส่ในสุขทุกข์ของราษฎร โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรและการประกอบอาชีพ เช่น ในภาวะฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพง ก็โปรดเกล้าฯให้นำข้าวในฉางหลวง มาจำหน่ายในราคาถูก และส่งเสริมให้ชาวนาทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ทรงพระเมตตาพระราชทานความยุติธรรมในเรื่องอากรค่านา ให้เก็บภาษีทั้งนาของขุนนางและนาของราษฎรเท่ากัน พระองค์ยังทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภกอย่างเอก ทรงสถาปนาและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไว้มากมาย นอกจากจะจรรโลงพระศาสนา ยังเป็นสถานศึกษาหาความรู้ของสมาชิกชุมชนทุกระดับ โปรดเกล้าฯให้จารึกสรรพวิชาการเป็นดุจมหาวิทยาลัยอันมีตำราสารพัดแขนงไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงทำนุบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง เหนืออื่นใดยังทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลในการต่างประเทศ แม้ในยามทรงพระประชวรใกล้เสด็จสวรรคตมี พระราชกระแสถึงแนวทางการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศในอนาคต ซึ่งกาลต่อมาปรากฏว่าเป็นไปตามพระราชวาจาทุกประการ “...การศึกการสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว...”
“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4” ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 3 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ทรงมีโอกาสได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนแตกฉานทรงเป็นนักปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันก็ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และศิลปะวิทยาการตะวันตกอย่างรอบด้าน ทำให้ทรงพระปรีชาสามารถทั้งด้านอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และรัฐประศาสโนบายการปกครองสมัยใหม่อย่างรู้เท่าทันตะวันตก ครั้นทรงราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองในยุคที่ลัทธิจักรวรรดินิยมจากประเทศมหาอำนาจในทวีปยุโรปกำลังแผ่อิทธิพลมาสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างเต็มที่ จึงทรงกำหนดพระบรมราโชบายอันแยบคายอย่างผ่อนสั้นผ่อนยาว ทำให้สยามประเทศอยู่ปลอดจากภัยคุกคามด้านความมั่นคง ขณะเดียวกันก็ทรงเปิดประเทศสู่ความเจริญเติบโตทางการพาณิชย์กับชาติตะวันตกโดยเสรี ทำให้วิทยาการอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหลั่งไหลเข้ามาสู่ราชอาณาจักร จนได้รับการแซ่ซ้องว่าทรงเป็นกษัตริย์นักปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย
“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” ทรงได้รับการอบรมบ่มเพาะพระปรีชาญาณสืบมาโดยตรงจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงทรงทราบการณ์อันกว้างไกลถึงมูลเหตุภายใน คือความล้าสมัยของประเพณีการปกครองแบบเก่าที่สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ประกอบกับมูลเหตุภายนอกจากการเปิดประเทศ ประกอบกับสัญญาณภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยม จึงทรงพระวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้าในการปฏิรูปการปกครองของประเทศสยามในทุกด้าน เพื่อเอกราชของประเทศและความผาสุกของประชาชนเป็นสำคัญ พระองค์ทรงจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็นกระทรวง ทรงปฏิรูประบบกฎหมายและการศาล ทรงยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยการเลิกระบบทาสไพร่ พระราชทานโอกาสทางการศึกษา อาชีพ และสิทธิเสรีภาพสมัย ใหม่ พระราช ทานระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอันเป็นมูลฐานความเจริญในทุกด้าน ดังพระราชปณิธานที่ทรงแสดงไว้ให้ปรากฏว่า “...เราตั้งใจ อธิษฐานว่าเราจะกระทำการจนเต็มกำลังอย่างที่สุดที่จะให้กรุงสยามเป็นประเทศอันหนึ่ง ซึ่งมีอิสรภาพและความเจริญ...”
“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6” ทรงสำเร็จการศึกษาจากสหราชอาณาจักร ทรงมีโอกาสได้เตรียมพระองค์ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาการอย่างรอบด้าน ทั้งการทหารและพลเรือน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักยุทธศาสตร์ และพระมหากษัตริย์จอมปราชญ์ กระทั่งทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ทรงถึงพร้อมด้วยพระปรีชาสามารถหลากสาขา ทรงเป็นศิลปินที่ทรงใช้การสื่อสาร มวลชน และพระราชอัจฉริยภาพด้วยวรรณกรรม นาฏศิลป์ และดนตรีมาเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจประชาชน ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรมอันพึงประสงค์สำหรับความเป็นพลเมืองของชาติ ที่ได้ชื่อว่าเป็นอารยะ
“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7” ทรงราชย์สืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช โดยทรงพากเพียรพยายามบริหารราชการอย่างเต็มพระกำลังความสามารถทุกประการ แต่ด้วยวิกฤติภาวะที่เป็นไปตามกระแสโลก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ปัญหาเรื่องความเคลื่อนไหวด้านแนวคิดทางการเมืองการปกครอง ทำให้ต้องทรงพระคุณธรรมอย่างหนักแน่นในอันที่จะทรงถือเอาความสงบสุขของประชาราษฎรเป็นที่ตั้ง การเสด็จพระราชดำเนินไปยังหัวเมืองต่างๆก็ทรงหวังจะได้ทรงทำนุบำรุงราษฎร เมื่อเสด็จฯไปที่ใดโปรดมีพระราชดำรัสให้ประชาชนทราบพระราชประสงค์ และทรงเตือนให้ตั้งใจประกอบสัมมาชีพในหลักศีลธรรมและกฎหมายเสมอ อีกทั้งมีพระราชประสงค์ให้ข้าราชการสำนึกว่าต้องรับราชการเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรเป็นสำคัญ มิใช่ใช้อำนาจกดขี่ราษฎร จึงมีพระบรมราชโองการให้เสนาบดีทุกกระทรวงควบคุมความประพฤติข้าราชการอย่างจริงจัง
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8” แม้ทรงราชย์ในขณะยังทรงพระเยาว์ และยังประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็ทรงตระหนักในพระราชหฤทัยถึงหน้าที่ที่ทรงมีต่อแผ่นดินไทย ซึ่งยามนั้นแม้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงสถิตธำรงอยู่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชนในชาติมิเปลี่ยนแปร ท่ามกลางภาวะระส่ำระสายทางการเมือง ประกอบกับภาวะสงคราม ทำให้คนไทยเฝ้าคอยหวังจะได้อาศัยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมเป็นที่พึ่ง พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยน้ำพระราชหฤทัยผูกพันรักประชาชน ทรงพระราชปรารภถึงการศึกษาและการเตรียมพระองค์ให้พร้อม ด้วยหวังจะได้เสด็จฯกลับมาทรงทำนุบำรุงประชาชนของพระองค์โดยไว
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9” ทรงราชย์สืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ซึ่งเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน แม้ในภาวะสับสนเช่นนั้น แต่ก็ทรงแสดงพระราชปณิธานแน่วแน่ในเย็นวันที่รับทรงราชย์ ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทว่าจะทำหน้าที่ด้วยใจสุจริต โดยพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” การพรรณนาถึงพระราชปณิธานในการทรงงานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ให้ครบถ้วนกระบวนความย่อมเป็นไปได้ยากเกินกว่าจะทำได้ในชั่วพื้นที่อันจำกัด แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยทุกคนพึงมีหน้าที่ปฏิบัติ คือการสืบสานพระราชปณิธาน ด้วยการปลูกปณิธานขึ้นในใจตน ด้วยการน้อมนำพระบรม ราโชวาท พระราชดำรัส และแนวพระราชดำริ ไปปรับประยุกต์ใช้เป็นประทีปนำทางของตน เพื่อประโยชน์สุขจักได้บังเกิดทั้งแก่ตน แก่ชุมชน และแก่ประเทศชาติ อันเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างดีที่สุด
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทร เทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10” ทรงราชย์สืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ทรงปรารถนาให้บ้านเมืองเป็นบ้านแสนสุข ประชาชนชาวไทยมีความสุขความเจริญโดยทั่วหน้า “...ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์นั้น ความจริงความหมายก็คือ ปฏิบัติหน้าที่ในนามของสถาบันทั้ง 3 สถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ในพระปรมาภิไธยนัยนี้ หมายถึงสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายของชาติ และความสุข ความร่มเย็น และมั่นคงของราชอาณาจักร ซึ่งเป็นบ้านของเราทุกคน อันนี้คือความหมายที่จะขอไขให้ ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ก็คือ ในนามของประชาชนชาวไทย ในนามของสถาบันสูงสุดทั้งหลายของชาติ และประชาชน คือให้ความยุติธรรม ให้ความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นที่พึ่งของประชาชนและสังคม...”
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ