“ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จย่า “สมเด็จพระพันปีหลวง” มาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นท่านทรงงาน และรับรู้ถึงความทุ่มเทของพระองค์ท่านในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน และสืบสานภูมิปัญญาไทยมาโดยตลอด เห็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะสืบสานพระราชปณิธาน โดยได้นำประสบการณ์การทำงานและการศึกษา ที่ได้จากการเดินทางไปชมผ้าไทยและงานหัตถกรรมพื้นบ้านตามภาคต่างๆ ทำให้เห็นผลงานที่สามารถนำมาพัฒนาให้ร่วมสมัยและเป็นสากลได้ จากการค้นคว้าเก็บข้อมูลและลงพื้นที่จริง ข้าพเจ้าจึงได้ออกแบบลายผ้ามัดหมี่มอบให้ช่างทอผ้าเป็นของขวัญปีใหม่ โดยออกแบบลายให้มีความหมายถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้ชาวไทยทุกคน เป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลายผ้าออกแบบให้ร่วมสมัยใช้ได้จริงในหลายโอกาส”

นอกจากจะทรงฉลองชุดไทยอย่างงดงามเป็นแบบอย่างของพระราชวงศ์ไทยยุคใหม่ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ยังทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาไทย เพื่อฟื้นฟูมรดกงานศิลป์ล้ำค่าของแผ่นดินไทย เรียกได้ว่าทรงได้รับการถ่ายทอดพรสวรรค์และพระปรีชาสามารถด้านแฟชั่นมาจาก “สมเด็จพระพันปีหลวง” อย่างแท้จริง

ในขณะที่ “สมเด็จพระพันปีหลวง” ทรงเป็น ต้นแบบในการใช้ชุดไทยพระราชนิยมในโอกาสต่างๆ และทรงทำให้ชื่อเสียงของผ้าไทยขจรขจายไปทั่วโลก เมื่อทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไหมไทยโก้หรู ฝีมือตัดเย็บของดีไซเนอร์โลก “ปิแอร์ บัลแมง” ตามเสด็จฯในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปทรงเยือนสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆในยุโรป เมื่อปี 2503

ชาวโลกก็ได้ตระหนักอีกครั้งถึงความวิจิตรของผ้าไทย และฝีมือสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ไทย ก็เมื่อ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” นำแบรนด์ “SIRIVANNAVARI BANGKOK” บุกไปยึดรันเวย์แฟชั่นวีกใหญ่ๆมาแล้วทั่วโลก นับว่าทรงมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างชื่อเสียงให้วงการแฟชั่นไทย

ขณะเดียวกัน ยังทรงมีบทบาทในการส่งเสริมวงการแฟชั่นไทยให้พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทรงเป็นบรรณาธิการจัดทำหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย “Thai Textiles Trend Book Spring/ Sum-mer 2022” ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และทีมที่ปรึกษา เพื่อทรงมอบให้นักออกแบบและผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประกอบการทำงานในวงการแฟชั่นไทย พร้อมร่วมสืบสานภูมิปัญญาไทย

เบื้องหลังแรงบันดาลพระทัยการจัดทำหนังสือดังกล่าวมาจากทรงเห็นการทรงงานของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการช่วยเหลือราษฎรให้มีรายได้เลี้ยงปากท้องมายาวนาน ผ่านโครงการศิลปาชีพฯ โดยทรงเล็งเห็นว่าความสามารถของคนไทยด้านศิลปหัตถกรรมนั้น มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพชั้นสูง สามารถพัฒนาต่อยอดได้ พระองค์ยังทรงดึงจิตวิญญาณเอกลักษณ์ความเป็นไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากลได้ อีกทั้งทรงอยากใช้ประสบการณ์และวิชาชีพความรู้ถ่ายทอดให้แก่บุคคลที่ต้องการสานต่องานด้านศิลปะผ้าไทยต่อไป ซึ่งพระองค์และทีมที่ปรึกษาใช้เวลารวบรวมข้อมูลโทนสี ตลอดจนศิลปะการทอผ้าอันเป็นเสน่ห์ของชุมชนในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย, คุณภาพของผ้าไหมไทย, การย้อมสีธรรมชาติของไทย และการใช้วัตถุดิบที่หลากหลายในการย้อมผ้า โดยใช้เวลานานถึง 1 ปีเต็มกว่าจะกลายเป็นคัมภีร์ด้านวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้สนใจงานศิลปะ, ผู้ทำงานด้านแฟชั่นและสิ่งทอ สามารถนำไปประยุกต์ ใช้กับงานออกแบบภายในและการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งประชาชน ทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ในวงกว้าง

“สมเด็จย่าทรงเป็นไอคอนิก ทรงเป็นองค์เริ่มต้นในการริเริ่มการทำงาน รวมถึง “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงสืบสาน, รักษาและต่อยอดพระราชกรณียกิจทุกๆประการของ “สมเด็จพระพันปีหลวง” ที่ทรงทำไว้ทั้งหมด และทำอย่างไรให้งานผ้าไทยไปสู่ไทยที่เป็นสากล การรักษาการทอผ้าอย่างไรให้ยั่งยืน อีกทั้งท่านหญิงอยากแชร์ประสบการณ์ความเป็นวิชาชีพที่ท่านหญิงได้เป็นทุกวันนี้ รวมถึงใช้วิชาชีพถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลที่จะต้องสานต่องานตรงนี้ต่อไป เช่น ข้าราชการ, ดีไซเนอร์ หรืออาชีพใดก็ตาม เทรนด์บุ๊กเล่มนี้มีมูลค่ามหาศาล ด้วยประสบการณ์ที่ท่านหญิงไปดูงานต่างประเทศ หรือทำงานต่างประเทศ เราเห็นแต่เทรนด์บุ๊กของเมืองนอก ท่านหญิงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องมี Study Book หรือมีเทรนด์บุ๊กเป็นของตัวเอง อ่านแล้วให้เราค่อยๆ นำไปปรับเปลี่ยนกับงานออกแบบของตัวเองได้อย่างไร อันนี้คือหัวใจหลักการ ทำหนังสือ

...อยากบอกดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ท่านหญิงโชคดีได้ ตามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ทรงงานตั้งแต่เหนือใต้ออกตก ด้วยความที่เป็นเด็กผู้หญิงไปไหนท่านหญิงก็รู้สึกสนุกไปหมด สมเด็จย่ารับสั่งว่า หลานจ๊ะไปคุยไปซักประวัติชาวบ้านนะ เราซักไม่เป็นก็ตามท่านผู้หญิงไป ได้ฟังได้จดตั้งแต่เด็กๆ ท่านก็ทรงอยู่ข้างๆ และพระราชทานไหมพรมให้ท่านหญิงถัก เราค่อยๆดึงค่อยๆตัดเอาสกอตช์เทปแปะ อยากได้สีนี้ๆ วิธีนี้เมื่อเทียบกับปัจจุบันคือ “แพนโทนสี” เวลาแนะนำชาวบ้านว่าเราอยากได้สีนี้ๆ ก็ยื่นแพนโทนสีให้ เดิมชาวบ้านไม่เข้าใจ พอบอกสีประมาณนี้ลองเทียบกับผ้าดู ชาวบ้านจึงเข้าใจ

...ท่านหญิงอยากเตือนความทรงจำ ตอนทำหนังสือจะนึกถึงสิ่งที่สมเด็จย่ารับสั่งเสมอๆ ทุกวันที่ 11 สิงหาคม เป็นการรับสั่งที่ซึมเข้าไปในใจว่า ท่านรู้สึกภูมิใจในสายเลือดคนไทย ที่เป็นชาวไร่ชาวนาจริงๆ หากเราแนะนำเขาดีๆ เขาก็จะมีสายเลือดของช่างฝีมือ และความเป็นศิลปินที่มีความละเอียดอ่อนมีศิลปะ หากเราฝึกฝนและสอนเขาดีๆ ก็จะเกิดความสวยงามและความภาคภูมิใจ”.