เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพของผู้บริหารสตรีทั่วอาเซียนให้ร่วมกันยกระดับสถานภาพสตรีซึ่งจะช่วยพัฒนาสังคมอาเซียนให้แข็งแรง เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากล (AWEN) ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม, ไทย และประเทศนอกกลุ่มอาเซียน คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้จัด การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน 2019 (AWEN Women CEOs Summit) ในหัวข้อการกำหนดทิศทางธุรกิจสตรี ก้าวล้ำ สหัสวรรษ 4.0 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (ASEAN Women Entrepreneur Network : AWEN) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 350 คน ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 30-31 ต.ค. ที่ผ่านมา
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระกรุณาเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม พร้อมทั้งมีพระดำรัสเป็นภาษาอังกฤษ ใจความว่า การประชุมครั้งนี้มีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการทำงานและขยายฐานการทำงานของสตรีในอนาคตนั้น นับว่าน่าชื่นชม เพราะปัจจุบันสตรีมีความรู้ ความสามารถสูง สมควรได้รับการยอมรับและการส่งเสริมสนับสนุนให้ได้แสดงศักยภาพ ด้วยการนำความรู้ ความสามารถมาใช้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ สาขาต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ ให้แก่สังคม ประเทศชาติและโลกของเรา การที่สตรีผู้มีบทบาทในวงการธุรกิจได้มาร่วมเสวนา แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการภาคธุรกิจ สำหรับเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคใหม่ จึงน่าจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประการที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติที่มีต่อสตรี อันน่าจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมความสำคัญของสตรี ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ในการนี้ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธาน AWEN เผยว่า ในโอกาสนี้ AWEN ได้มีปฏิญญาร่วมกัน ภายใต้ “AWEN DECLARATION BANGKOK 2019” ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 7 ประเด็น ได้แก่ การยกระดับภาวะผู้นำของสตรี การปรับทักษะแรงงานสตรี การสนับสนุนความรู้และสร้างวินัยทางการเงิน การเข้าถึงตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการสตรีอาเซียน การส่งเสริมแนวทางพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม มาเป็นแกนหลักและวิธีการพัฒนารูปแบบต่างๆ ให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศตนเอง โดยประเทศไทยจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างพลังเศรษฐกิจโดยสตรีให้กับภูมิภาคอาเซียน โดยเราจะสนับสนุนและส่งเสริมการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาและการพัฒนา รวมถึงการยกระดับการฝึกทักษะและทักษะใหม่ๆที่จะช่วยให้สตรีอาเซียนก้าวสู่การเป็นผู้นำในองค์กรที่เปิดกว้างสำหรับผู้หญิงได้รวดเร็วขึ้น เช่น ทักษะด้านการเงิน การศึกษา การตลาด การค้า เป็นต้น รวมถึงการให้สนับสนุนการริเริ่มโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ที่จะส่งเสริมสตรีในฐานะผู้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียน.