(ภาพ : สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯทรงเปิด “ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด นครชัยบุรินทร์” บ้านหนองไผ่ล้อม ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา.)

โรคพิษสุนัขบ้ายังคงเป็นโรคที่เกิดระบาดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทยอยู่ทุกปี โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน มักจะมีข่าวการแพร่ระบาดมากที่สุด โดยมีสุนัขจรจัดเป็นตัวแพร่เชื้อโรค สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ที่ใกล้ชิดกับสุนัขเป็นอย่างมาก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โรคพิษสุนัขบ้า” มีมากขึ้นช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันจำนวน สุนัขจรจัด มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน กลายเป็นปัญหาของชุมชน และสังคมเป็นวงกว้าง

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า จึงทรงมีพระปณิธานให้มีการสร้าง “ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด นครชัยบุรินทร์” ขึ้น

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการต่างๆภายในศูนย์ฯ ซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยในการดูแลรักษาสุนัขจรจัด.
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการต่างๆภายในศูนย์ฯ ซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยในการดูแลรักษาสุนัขจรจัด.

เพื่อเป็นศูนย์ดูแลควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และโรคจากสัตว์สู่คน ให้ที่พักพิงแก่สุนัขจรจัดใน กลุ่มนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์ เพื่อให้ โรคพิษสุนัขบ้า หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2563 สอดรับกับเป้าหมายของ องค์การอนามัยโลก ในการกำจัด โรคพิษสุนัขบ้า ให้หมดไปจากโลกภายในปี พ.ศ.2573

ศูนย์แห่งนี้นับเป็นศูนย์ต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยในการดูแลบริหารจัดการสุนัขจรจัดที่ได้มาตรฐาน ตั้งอยู่ริมถนนบายพาสเลี่ยงเมืองปากช่อง บนเนื้อที่ 30 ไร่ เลขที่ 906 หมู่ 14 บ้านหนองไผ่ล้อม ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ภายในศูนย์ฯ จะแบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน อาทิ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์, คลินิกแรกรับ, ห้องอัลตราซาวนด์ และเอกซเรย์, อาคารพักพิงสัตว์, อาคารจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และการแสดงความสามารถของสุนัข

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา และ นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาด จ.นครราชสีมา เฝ้าฯรับเสด็จ.
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา และ นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาด จ.นครราชสีมา เฝ้าฯรับเสด็จ.

พร้อมกันนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้ประทานพระอนุญาตให้นำ “คุณไหมทอง” สุนัขทรงเลี้ยงสายพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ เป็นต้นแบบรูปปั้นตั้งอยู่ด้านหน้าศูนย์ฯ

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด นครชัยบุรินทร์ นี้ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สุนัขจรจัดที่เข้ามาอยู่ภายในศูนย์ฯจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดทั้งในด้านสุขภาพและจิตใจ

ตามพระนโยบายของ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานของศูนย์พักพิงสัตว์จรจัด สร้างความรู้และความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการสถานพักพิงสัตว์

ภาพมุมสูงของศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด มีสภาพกว้างขวาง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 30 ไร่ มีหลายอาคาร สามารถรองรับสุนัขได้มากถึง 3,500 ตัว.
ภาพมุมสูงของศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด มีสภาพกว้างขวาง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 30 ไร่ มีหลายอาคาร สามารถรองรับสุนัขได้มากถึง 3,500 ตัว.

เป็นแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย, กรมปศุสัตว์, องค์กรส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน อันจะส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า รวมไปถึงการขยายพันธุ์ของสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืน

“เป็นศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดต้นแบบที่มีระบบการจัดการตามมาตรฐานสากลที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน สามารถรองรับสุนัขจรจัดเต็มที่ 3,500 ตัว เป็นศูนย์ปฏิบัติการ Laboratory Investigation ที่ทันสมัย มีสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคของสุนัขจรจัดตลอด 24 ชั่วโมง มีความพร้อมทั้งด้านอาคารสถานที่ และระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน” นายวิเชียร กล่าว

“คุณไหมทอง” สุนัขทรงเลี้ยงสายพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ เป็นต้นแบบรูปปั้นด้านหน้าศูนย์ฯ.
“คุณไหมทอง” สุนัขทรงเลี้ยงสายพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ เป็นต้นแบบรูปปั้นด้านหน้าศูนย์ฯ.

สำหรับขั้นตอนในการรับสุนัขจรจัดของศูนย์ฯจะผ่านการคัดกรองจากปศุสัตว์จังหวัดก่อน เมื่อถูกส่งมาที่ศูนย์ฯ สุนัขทุกตัวจะได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อทำประวัติ ฝังไมโครชิป ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จำเป็น ทำหมัน แล้วจึงคัดแยกเพื่อนำไปดูแลและฝึกพฤติกรรมให้เหมาะสม

มีเป้าหมายคือการส่งสุนัขเหล่านี้สู่บ้านคุณภาพหลังใหม่ได้ ซึ่งในอนาคตศูนย์พักพิงแห่งนี้จะใช้เป็นสถานศึกษาสำหรับนักเรียน นักศึกษาด้านสุขภาพสัตว์และสัตวแพทย์ และเป็นธนาคารเลือดสำหรับสุนัขที่ต้องการเลือด อีกทั้งยังจะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเรียนสัตว์ให้กับเยาวชน

เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายสุนัขลงจากรถเพื่อนำเข้าศูนย์พักพิง โดยสุนัขทั้งหมดเป็นสุนัขจรจัดที่ถูกส่งมาจากหลายพื้นที่.
เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายสุนัขลงจากรถเพื่อนำเข้าศูนย์พักพิง โดยสุนัขทั้งหมดเป็นสุนัขจรจัดที่ถูกส่งมาจากหลายพื้นที่.

รวมถึงให้บริการด้านสุขภาพสัตว์แก่ชุมชน เช่น ให้บริการรักษาโรคแก่สัตว์เล็กที่ไม่ร้ายแรง ให้บริการฉีดวัคซีน ทำหมัน ซึ่งที่ศูนย์แห่งนี้จะมีสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมานมาประจำการอีกด้วย

ด้าน น.ส.สีตาลา จุฑะรพ นักจัดการงานใน พระองค์ชำนาญการ ผ.อ.ศูนย์ฯ กล่าวว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯ มาทรงเปิดศูนย์ฯแห่งนี้เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2562

ศูนย์ฯนี้รับเฉพาะสุนัขจรจัดได้เต็มที่ประมาณ 3,500 ตัว เนื่องจากหากจับอยู่รวมกันมากเกินไปจะมีปัญหากัดกัน ในจำนวนนี้หากมีคนใจบุญหรือผู้ที่รักสุนัขมาติดต่อขอรับไปเลี้ยงบ้างปีละ 100 ตัว ทางศูนย์ฯ จึงจะรับเข้าเพิ่มได้

สัตวแพทย์ประจำศูนย์ฯ ตรวจสุนัขจรจัดทุกตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อสุนัขบ้า.
สัตวแพทย์ประจำศูนย์ฯ ตรวจสุนัขจรจัดทุกตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อสุนัขบ้า.

จุดประสงค์หลักคือ เอามาพักไว้ ฟื้นฟูสุขภาพจิต สุขภาพร่างกาย และถ้าเขาน่ารักน่าเอ็นดูแล้ว และใครอยากรับไปเลี้ยงเราก็อยากให้ไปมาก โดยการมอบให้ฟรีๆ ไม่ต้องบริจาคหรืออะไร ขอให้เอาไปเลี้ยงก็พอ

“อยากประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ใจบุญหรือผู้ที่รักสุนัขหากต้องการจะบริจาคอาหารสุนัขก็ยินดีมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารเม็ดทุกยี่ห้อ อาหารกระป๋อง หรืออาหารชนิดถุงบรรจุภัณฑ์สามารถนำมาบริจาคได้ที่ศูนย์ฯแห่งนี้ หรือติดต่อผ่านปศุสัตว์จังหวัดของจังหวัดนั้นๆก็ได้” น.ส.สีตาลา กล่าว

สุนัขจรจัดจำนวนมากถูกส่งมาจากจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน และอยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ.
สุนัขจรจัดจำนวนมากถูกส่งมาจากจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน และอยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ.

นอกจากนี้สามารถบริจาคเงินผ่าน มูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่งในพระอุปถัมภ์ ธนาคารกรุงเทพ สาขา ม.เกษตรศาสตร์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วย และสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์” บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 043-730490-0

หรือจะแวะซื้อของที่ระลึกในร้านของศูนย์ฯ ส่วนหนึ่งของเงินผลกำไรหักต้นทุนแล้วจะเอาไปสมทบเป็นค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายสัตว์ต่อไป.

วีรพงศ์ เหรียญประเสริฐ