พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ถือเป็นพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ และต้องจารึกไว้ในหัวใจของคนไทยทุกคน ที่มีโอกาสได้เห็นพิธีการอันสมพระเกียรติ เป็นมหามงคลยิ่งของแผ่นดินไทย ในรอบ 69 ปี

ตามหมายกำหนดการทั้งสามวันนั้น ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ถือเป็น “วันสำคัญที่สุด” โดยเฉพาะพิธีการช่วงเช้า ตามฤกษ์เวลา 10.09-12.00 น. ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องด้วยเป็น “วันบรมราชาภิเษก” ส่วนวันที่ 5 และ 6 พฤษภาคม เป็นวันประกอบพระราชพิธีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา

ใน “วันบรมราชาภิเษก” 4 พฤษภาคม 2562 มีการประกอบพระราชพิธีสำคัญ 3 อย่าง ตามโบราณราชประเพณีในหลายรัชกาลที่ผ่านมา โดยในหมายกำหนดการตามพระฤกษ์ ประกอบพระราชพิธี คือ สรงพระมุรธาภิเษก (การรดน้ำที่พระเศียร) ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานด้านตะวันออก, ทรงรับน้ำอภิเษก (รดน้ำ) ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง ทรงจุดเทียนสังเวยเทวดากลางหาว และประทับ ณ ตั่งไม้อุทุมพรหุ้มผ้าขาวในมณฑปพระกระยาสนาน เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2468
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง ทรงจุดเทียนสังเวยเทวดากลางหาว และประทับ ณ ตั่งไม้อุทุมพรหุ้มผ้าขาวในมณฑปพระกระยาสนาน เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2468

ทั้ง 3 ขั้นตอนสำคัญ “วันบรมราชาภิเษก” รัชกาลที่ 10 ตามฤกษ์เวลา 10.09-12.00 น. ในพิธีแรก คือ “พิธีสรงน้ำมุรธาภิเษก” ณ “มณฑปพระกระยาสนาน” หรือ “พระมณฑปพระกระยาสนาน”

ลักษณะ "พระมณฑปพระกระยาสนาน" ตามที่ปรากฏหลักฐานในโบราณราชประเพณี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 เมื่อ 5 พฤษภาคม 2493 เป็นอาคารชั่วคราวทรงมณฑป มีลักษณะเป็นมณฑปหุ้มผ้าขาวแต่งด้วยเครื่องทองคำ เพดานดาดผ้าขาว มีสหัสธารา สำหรับไขน้ำ “พระมุรธาภิเษก” จากบนเพดานให้โปรยลงยังที่สรง ผูกพระวิสูตรขาวทั้ง 4 ด้าน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง เสด็จประทับมณฑปพระกระยาสนาน สรงพระมุรธาภิเษกสนาน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชวันที่ 2 ธ.ค. 2454
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง เสด็จประทับมณฑปพระกระยาสนาน สรงพระมุรธาภิเษกสนาน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชวันที่ 2 ธ.ค. 2454

ภายในมณฑปตั้ง “ตั่งอุทุมพร” คือที่นั่งทำด้วยไม้มะเดื่อ ซึ่งเป็นไม้มงคล บนถาดทองรองน้ำสรง วันสรงพระมุรธาภิเษก ตั้งถาดสรงพระพักตร์ มีครอบมุรธาภิเษกสนาน และวางใบไม้นามวันกาลกิณีสำหรับทรงเหยียบ

บนฐานมณฑปตั้งราชวัติทรงเครื่องพื้นขาวลายทอง ตั้งฉัตร 7 ชั้นทองแผ่ลวด พื้นโหมดทองเงินนาคทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 3 องค์ มีบุษบกน้อยสำหรับประดิษฐานพระชัยนวโลหะ ทางทิศตะวันออกและประดิษฐานพระมหาพิฆเนศ ทางทิศตะวันตก ที่มุมฐานมณฑปทั้ง 4 มุม ตั้งศาลจัตุโลกบาล สำหรับบูชาพระฤกษ์ 

สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม กทม. เมื่อ 18 เมษายน 2562
สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม กทม. เมื่อ 18 เมษายน 2562

"มุรธาภิเษก" ประกอบด้วยคำว่า มุรธ หมายถึงหัวหรือยอด กับคำว่า อภิเษก เพราะฉะนั้น “มุรธาภิเษก” จึงหมายถึงการรดน้ำอันศักดิ์สิทธิ์เหนือศีรษะ “น้ำมุรธาภิเษก” เป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่ทำพิธีพลีกรรมตักจาก 9 แหล่งน้ำสำคัญในราชอาณาจักรไทย และทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2562 ฤกษ์เวลา 17.16-21.30 น. แล้วจึงนำมาผสมกับน้ำเทพมนตร์ ของคณะพราหมณ์ ประกอบด้วย แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” 

ริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษกและคนโทน้ำสรงพระมุรธาภิเษกออกจากหน้าวัดสุทัศน์ฯ
ริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษกและคนโทน้ำสรงพระมุรธาภิเษกออกจากหน้าวัดสุทัศน์ฯ

อันได้แก่ 1.แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 2.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี 3.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง 4.แม่น้ำราชบุรี ตักที่บริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงส์ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 5.แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่บริเวณท่าน้ำวัดไชยศิริ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งน้ำจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อีก 4 สระในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง หลังทรงสหัสธาราแล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ สุจิตโต) ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยครอบพระกิ่ง เมื่อ 5 พ.ค. 2493
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง หลังทรงสหัสธาราแล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ สุจิตโต) ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยครอบพระกิ่ง เมื่อ 5 พ.ค. 2493

ในการ “สรงพระมุรธาภิเษก” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงฉลองพระองค์เศวตพัสตร์ ขลิบทอง (เศวตพัสตร์ แปลว่า ผ้าขาว) จากข้อมูลคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อธิบายลักษณะว่า เป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ผืน ผืนหนึ่งขนาดเล็กสำหรับทรงสะพักเฉียงพระอังสา อีกผืนหนึ่งขนาดใหญ่สำหรับทรงแบบจีบหน้านาง ผ้าทรงสะพักนำทองคำมารีดเป็นแผ่นบางๆ แล้วตัดเป็นเส้นขนาดความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร เย็บติดกับริมขอบผ้าทั้ง 4 ด้าน ส่วนผ้าสำหรับทรง นำแผ่นทองคำขนาดเดียวกันกับที่ติดผ้าทรงสะพักมาเย็บติดขอบชายผ้าเฉพาะด้านล่างขนานกัน 2 เส้น

พิธีสรงน้ำมุรธาภิเษกตามโบราณราชประเพณี มีผู้ประกอบพิธีทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายพราหมณ์ ขณะเจ้าพนักงานไขสหัสธารา ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงพระมุรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนาน จากนั้นทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องพระมุรธาภิเษกสำคัญต่างๆ ที่บรรจุน้ำพระพุทธมนต์จากน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ และน้ำเทพมนตร์จากหัวหน้าพราหมณ์ถวายให้ท่านทรงอาบ อาทิ พระครอบ พระกิ่ง พระครอบยันตรนพคุณ พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระเต้านพเคราะห์ และพระเต้าเบญจคัพภ์

พระเต้าเบญจคัพภ์
พระเต้าเบญจคัพภ์

ขณะประกอบพิธี กองแก้วจินดา หน่วยทหารโบราณ สังกัดทหารปืนใหญ่ มีหน้าที่ยิงปืนใหญ่ขนาดเล็กตามพระฤกษ์ที่โหรหลวงคำนวณ ยิงปืนตามกำลังวันที่ประกอบพระราชพิธี พร้อมกับพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร มโหระทึก และดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

ริ้วขบวนเชิญ
ริ้วขบวนเชิญ "คนโทน้ำอภิเษก" ทั้งหมด 86 คนโท จากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม ระยะทางรวม 740 เมตร เพื่อทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ โดยมี สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธี เมื่อ 18 เมษายน 2562

พีธีต่อมา คือ “พิธีถวายน้ำอภิเษก” เมื่อพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 สรงพระมุรธาภิเษกแล้ว จะทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เสด็จไปประทับ ณ “พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์” รับ “น้ำอภิเษก” เป็นน้ำซึ่งทำพิธีพลีกรรมตักมาจากแแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศจำนวน 108 แหล่งน้ำ ประกอบด้วย แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1 แหล่งน้ำ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ 5 พฤษภาคม 2493
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ 5 พฤษภาคม 2493

คำว่า “อภิเษก” หมายถึง การรดน้ำที่พระหัตถ์ เสมือนผู้น้อยรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ หรือเป็นการยอมรับผู้ที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ซึ่งเป็นพระแท่น 8 เหลี่ยม ทำด้วยไม้มะเดื่อ อยู่ทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จากนั้นทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษก และน้ำเทพมนตร์

เครื่องราชกกุธภัณฑ์
เครื่องราชกกุธภัณฑ์

พิธีการลำดับสุดท้ายในช่วงเช้า คือ “พิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์” “เครื่องขัตติยราชวราภรณ์” และ “พระแสง” เนื่องด้วยคำว่า “กษัตริย์” แปลว่า นักรบ จึงต้องมีพระแสง หรือดาบคู่พระหัตถ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะแสดงความเป็น “พระมหากษัตริย์” ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ รัชกาลที่ 10 เสด็จฯ ไปยัง “พระที่นั่งภัทรบิฐ” เพื่อทรงรับเครื่องมงคลต่างๆ เหล่านี้

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์ และเครื่องพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2468
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์ และเครื่องพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2468

โดยพระครูพราหมณ์เป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” หมายถึง เครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ อันประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร(ไม้เท้า) วาลวิชนี (พัดและแส้) และฉลองพระบาทเชิงงอน

สำหรับ “เครื่องขัตติยราชวราภรณ์” เป็นเครื่องประดับอันเป็นมงคล แสดงพระเกียรติยศ โดยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 เมื่อ 5 พฤษภาคม 2493 “เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์” ประกอบด้วย 

พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ เป็นสร้อยที่ทำจากฝ้าย พราหมณ์เป็นผู้จัดทำตามกรรมวิธีของพราหมณ์ ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาซ้าย 

"พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์" เป็นสร้อยทองคำ 2 เส้นคู่กัน มีดอกประจำยาม 36 ดอก ทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ 9 ชนิด ได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์ ดอกละชนิดสลับกัน ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาขวา 

ภาพซ้าย คือ พระสังวาลพระนพ (ภาพบน) และ พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ (ภาพล่าง) ส่วนภาพขวาบน คือ พระธำมรงค์วิเชียรจินดา ส่วนภาพล่าง คือ พระธำมรงค์รัตนวราวุธ
ภาพซ้าย คือ พระสังวาลพระนพ (ภาพบน) และ พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ (ภาพล่าง) ส่วนภาพขวาบน คือ พระธำมรงค์วิเชียรจินดา ส่วนภาพล่าง คือ พระธำมรงค์รัตนวราวุธ

"พระสังวาลพระนพ" เป็นสร้อยอ่อนทำด้วยทองคำล้วน 3 เส้นเรียงกัน มีดอกประจำยามทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ 9 ชนิด เชื่อมสร้อยทั้ง 3 เส้นเข้าด้วยกัน ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาขวา

"พระธำมรงค์รัตนวราวุธ" ทรงรับมาแล้ว ทรงสวมนิ้วพระหัตถ์ขวา 

"พระธำมรงค์วิเชียรจินดา" ทรงรับมาแล้ว ทรงสวมนิ้วพระหัตถ์ซ้าย 

หลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเครื่องมงคลต่างๆ และรับถวายพระพรชัยมงคล ทรงมี "พระบรมราชโองการ" พระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย พิธีต่อมาทรง "หลั่งทักษิโณทก" (น้ำสำหรับกรวด) ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรทรงยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการนั้น  จากนั้นเลี้ยงพระ พระสงฆ์ดับเทียนชัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระราชาธิบดี ประธานาธิบดี คณะทูตานุทูต และข้าทูลละอองธุลีพระบาท เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2468
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระราชาธิบดี ประธานาธิบดี คณะทูตานุทูต และข้าทูลละอองธุลีพระบาท เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2468

ภายหลังประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในช่วงเช้าเสร็จสิ้นแล้ว เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จากนั้นเวลา 16.00 น. ประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระสงฆ์ 80 รูป ถวายพระพร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, ถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร, ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สดับปกรณ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ไทย
รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ไทย

ต่อมา เวลา 18.00 น. เจ้าพนักงานเวียนเทียนสมโภช ณ หมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งช่วงเวลา 13.19-20.30 น. เป็นการ “เฉลิมพระราชมณเฑียร” เถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จึงเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ของรัชกาลที่ 10

ทั้งนี้วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็น “วันบรมราชาภิเษก” ของรัชกาลที่ 10 และในปี 2563 เป็นต้นไป ให้ถือเป็น “วันฉัตรมงคล” เพื่อระลึกถึงการรับราชสมบัติ และวันแห่งประวัติศาสตร์ของไทย

ที่มา : ข้อมูลและภาพ จากหนังสือประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงวัฒนธรรม