พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน เพื่อการเสด็จขึ้นครองราชย์โดยสมบูรณ์ของพระมหากษัตริย์ไทย แรกเริ่มได้รับอิทธิพลจากคติอินเดีย โดยมีหลักฐานเกี่ยวกับการราชาภิเษกครั้งแรกในราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์แรกในสมัยกรุงสุโขทัย
กระนั้น เมื่อมาถึงยุคกรุงศรีอยุธยา ไม่มีการบันทึกรายละเอียดใดๆเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ทั้ง 33 องค์ กระทั่งกรุงแตกในปี 2310 “พระเจ้าอังวะ” กษัตริย์ของพม่า ได้ให้ “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” กษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งกรุงศรีอยุธยา พร้อมข้าราชสำนักชั้นผู้ใหญ่ที่ตกเป็นเชลยศึก ลำดับเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา และจดเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ “คำให้การของชาวกรุงเก่า” ส่วนในสมัยกรุงธนบุรี ไม่ปรากฏหลักฐานการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สันนิษฐานว่าทำตามแบบสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ทำอย่างพอสังเขป เพราะบ้านเมืองยังอยู่ในภาวะสงคราม
เมื่อผลัดแผ่นดินสู่รัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” โปรดให้ชำระตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรแห่งกรุงศรีอยุธยา แล้วเรียบเรียงไว้เป็น “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” ถือเป็นตำราเกี่ยวกับการราชาภิเษกเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย และโปรดให้สร้างเครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยแบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้ยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมาจนถึงปัจจุบัน รวมมีการประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์มาแล้ว 11 ครั้ง โดยมีการทำพิธีบรมราชาภิเษก 2 รอบ ในสมัยของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ตามคติความเชื่อว่าการทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เต็มแบบแผนโบราณราชประเพณี จะได้เป็นพระเกียรติยศ และเป็นศรีสวัสดิ์มงคลแก่บ้านเมือง
หลักเกณฑ์ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนหลัก กระนั้นบางรัชกาลฯโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีเต็มตามแบบแผนโบราณ บางรัชกาลฯโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีอย่างย่อ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง
1) การเตรียมพระราชพิธี หัวใจสำคัญอยู่ที่การทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ตามโบราณราชประเพณีทั่วราชอาณาจักร และตั้งพิธีเสกน้ำ สำหรับถวายเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษก กับทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ (จารึกพระนามใหม่ของพระเจ้าแผ่นดินลงในแผ่นทอง) พร้อมกับดวงพระบรมราชสมภพ และแกะงาช้างเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาล
2) พิธีเบื้องต้นมีการเชิญพระพุทธมนต์, ตั้งน้ำวงด้าย, จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
3) พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เริ่มด้วยพิธีสรงพระมุรธาภิเษก แล้วประทับพระแท่นอัฐทิศ-อุทุมพร รับน้ำอภิเษก ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ จากนั้นจึงรับการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์
4) พิธีเบื้องปลาย เสด็จออกมหาสมาคม พร้อมสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี แล้วเสด็จ พระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก, ถวายราชสักการะสมเด็จพระ-บรมราชบุพการี และเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร (เปรียบเสมือนการขึ้นบ้านใหม่)
5) เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และพยุหยาตราทางชลมารค
ทางฝั่งตะวันตก การขึ้นครองราชย์ใช้คำว่า “CORONATION” ซึ่งหมายถึงมงกุฎแห่งชัยชนะ บ่งบอกว่าให้ความสำคัญกับการสวมมงกุฎ ไม่มีการรดน้ำ ขณะที่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของตะวันออก แม้จะมีการสวมมงกุฎ แต่ก็ไม่ใช่ขั้นตอนสำคัญ เพราะความสำคัญอยู่ที่การรดน้ำ โดยคำว่า “บรมราชาภิเษก” มาจาก บรม+ราชา+อภิเษก ซึ่ง “อภิเษก” หมายถึง “การรดน้ำ” โดยน้ำที่ใช้ในพิธีเรียกว่า “น้ำสรงพระมุรธาภิเษก” หมายถึง “น้ำรดพระเศียร”
“น้ำสรงพระมุรธาภิเษก” ตามตำราโบราณของพราหมณ์ ต้องเป็นน้ำที่มาจาก “ปัญจ-มหานที” คือแม่น้ำสำคัญ 5 สายในชมพูทวีป ซึ่งไหลลงมาจากเขาไกรลาศ ได้แก่ แม่น้ำคงคา, แม่น้ำยมุนา, แม่น้ำมทิ, แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู กระนั้น ในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ไม่พบหลักฐานการนำน้ำปัญจมหานทีในชมพูทวีปมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะตามธรรมเนียมราชประเพณีเดิม เมื่อกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ จะต้องทำพิธีบรมราชาภิเษกภายใน 7 วัน หรืออย่างช้าเดือนเศษ และกระทำก่อนที่จะถวาย พระเพลิงพระบรมศพกษัตริย์องค์ก่อน ในศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัยบันทึกไว้ว่า แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาทำน้ำอภิเษกคือ น้ำพุที่ออกมาจากเขาลิงคบรรพตข้างบนวัดภูใต้ นครจำปาศักดิ์ ส่วนสมัยอยุธยาทุกรัชกาล น้ำที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาจากน้ำในสระเกศ, สระแก้ว, สระคา และสระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี
มาถึง “สมัยกรุงรัตนโกสินทร์” นอกจากจะใช้น้ำจากแหล่งเดียวกับกรุงศรีอยุธยา ยังนำน้ำมาจากแม่น้ำสายสำคัญอีก 5 สาย เรียกกันว่า “เบญจสุทธคงคา” ตามอย่าง “ปัญจมหานที” ของอินเดีย โดยตักจากแม่น้ำ 5 สายในพระราชอาณาจักรไทย คือ แม่น้ำเพชรบุรี, แม่น้ำราชบุรี, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำบางปะกง จากนั้นจึงนำไปตั้งพิธีเสก ณ ปูชนียสถานสำคัญประจำเมือง แล้วจึงส่งเข้ามาทำพิธีต่อที่พระนคร เพิ่งมาใน “สมัยรัชกาลที่ 4” ที่มีการโปรดเกล้าฯให้พระสงฆ์ 4 รูป สวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสรงพระมุรธาภิเษกเพิ่มเติมจากเดิม ต่อมา “สมัยรัชกาลที่ 5” เมื่อเสด็จฯไปประเทศอินเดีย ทรงนำน้ำปัญจมหานทีกลับมาด้วย และโปรดเกล้าฯให้เพิ่ม “น้ำปัญจมหานที” จากอินเดีย ลงในน้ำเบญจสุทธคงคา และน้ำในสระทั้ง 4 ของเมืองสุพรรณบุรี เมื่อถึง “สมัยรัชกาลที่ 6” โปรดตามรอยพระบรมราชชนกใช้น้ำอภิเษกจากแหล่งเดียวกัน พร้อมโปรดเกล้าฯให้ปลุกเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ทุกมณฑลทั่วราชอาณาจักร และตั้งทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดสำคัญ และปูชนียสถานหลัก ในมณฑลต่างๆ อาทิ มณฑลนครสวรรค์, มณฑลปราจีนบุรี, เมืองโคราช มณฑลนครราชสีมา, เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน, เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี, เมืองไชยา มณฑลชุมพร, เมืองตานี มณฑลปัตตานี, เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต, เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์ และเมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี รวมสถานที่ทำน้ำอภิเษก 17 แห่ง เพิ่มอีก 7 มหานครโบราณคือ พระพุทธบาท สระบุรี ที่ตั้งของเมืองละโว้และกรุงศรีอยุธยา, พระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ปูชนียสถานสำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ, วัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก ปูชนียสถานสำคัญสมัยกรุงสุโขทัย, พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ปูชนียสถานสำคัญสมัยทวารวดี, วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช, วัดมหาธาตุหริภุญไชย ปูชนียสถานสำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ และวัดพระธาตุพนม มณฑลอุดร ปูชนียสถานสำคัญของเมืองศรีโคตรบูรณ์ในสมัยโบราณ
“สมัยรัชกาลที่ 7” ยังคงยึดตามแบบแผนโบราณราชประเพณี เพียงแต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ และเพิ่มเติมอีกเป็นแห่งที่ 18 คือพระลานชัยเมืองร้อยเอ็ด ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนจากมณฑลเป็นจังหวัดใน “สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9” ยังคงตามรอยรัชกาลที่ 7 ใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งเดิมทั้ง 18 แห่ง เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกจากมณฑลเป็นจังหวัดตามระบบการปกครอง ใหม่ และเปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ มาเป็นตักน้ำบ่อแก้ว และทำพิธีเสกน้ำที่พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน แทน เมื่อได้น้ำอภิเษกที่ผ่านการตั้งพิธีเสก ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่างๆแล้ว จะมีการอัญเชิญมาตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงอัญเชิญเข้าพิธีสวดพุทธมนต์ เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์
เนื่องจากการนำน้ำมาจากแหล่งต่างๆทุกภูมิภาค ได้สะท้อนถึงความ จงรักภักดีและการถวายพระราชอำนาจแด่พระมหากษัตริย์อย่างพร้อมเพรียงกันทั่วราชอาณาจักรไทย “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 108 แห่ง จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำมาตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมกับแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เดิมที่มีมาแต่โบราณกาล นี่เป็นเพียงบางส่วนของพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดินไทย ที่จะต้องเป็นที่จดจารึกในประวัติศาสตร์โลกตราบนานเท่านาน
สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถติดตามอ่านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงกษัตราธิราช “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในวันที่ 4-6 พ.ค.2562 ได้ที่เว็บไซต์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จัดทำโดยคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก.
ทีมข่าวหน้าสตรี