เมื่อวานนี้ วันที่ 18 ธันวาคม เป็น “วันแรงงานข้ามชาติสากล” วันที่สหประชาชาติและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระลึกถึงบทบาทแรงงานข้ามชาติ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความยากลำบาก ของแรงงานข้ามชาติเป็นอันมาก ในการหางานที่สุจริตเป็นธรรม
เจสัน จั๊ดด์ ผู้ประสานงานโครงการ ของไอแอลโอ แสดงความคิดเห็นผ่านทาง “ไทยรัฐ” ว่าความยุติธรรมและเกียรติของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะมีแรงงานข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้น ตัวเลขล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไทย ราว 3.5–4 ล้านคน แรงงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญ ต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาหารทะเล และอุตสาหกรรมอื่นๆ และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย
เรื่องราวความยากลำบาก และการถูกละเมิดของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงและอาหารไทย ที่มีมูลค่ากว่า 7 พันล้านบาท ถูกรายงานไปทั่วโลกอย่างเห็นภาพชัดเจน ได้ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายแรงงานไทย และก่อให้เกิดความพยายามใหม่ๆในการปกป้องสิทธิแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติจากพม่าและกัมพูชาเป็นส่วนใหญ่
รายงานหลายฉบับที่ออกมาเร็วๆนี้ ระบุชัดเจนว่า อุตสาหกรรมประมงและการแปรรูปอาหารทะเลของไทย ยังจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงาน ไอแอลโอมีโครงการใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เพื่อต่อต้านการละเมิดแรงงานและมุ่งมั่นที่จะช่วยรัฐบาลไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน
ผู้ประสานงานของไอแอลโอประจำประเทศไทย เห็นว่าการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสอดคล้องกับกฎหมายไทย แต่ยังเป็นเรื่องของธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขันด้วย เพราะผู้ซื้ออาหารทะเลไทยทั่วโลกให้ความสำคัญกับงานที่สุจริตเป็นธรรม ในระบบห่วงโซ่อุปทานผู้ประกอบการไทยจะมุ่งแต่เรื่องราคาและคุณภาพไม่ได้ แต่ต้องเป็นงานที่สุจริตเป็นธรรมด้วย
...
ไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแรงงานต่างชาติมาทำงานมากเป็นอันดับต้นๆ เพราะเศรษฐกิจไทยสามารถรองรับได้ โอกาสหางานทำ ได้ง่าย ได้ค่าจ้างสูงกว่าหลายประเทศ และไทยจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างชาติในหลายด้าน
ประเทศไทยเคยถูกโลกตะวันตก สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และองค์กรสิทธิมนุษยชน โจมตีเรื่องละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ บัดนี้สถานการณ์ดีขึ้นมาก แต่หวังว่ารัฐบาลไทยจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่จะต้องทำให้ดียิ่งๆขึ้นไป ทั้งการปรับปรุงกฎหมาย และปรับปรุงกลไกบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก.