วันนี้จะมีการประชุม คณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ พีพีพี มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเป็นประธาน โดย กระทรวงคมนาคม ของ รัฐมนตรีอาคม เติมพิทยาไพสิฐ จะเสนอให้ “บริษัทเอกชน” เข้าไปร่วมลงทุนบริหารจัดการ จัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง และ บำรุงรักษาทางมอเตอร์เวย์ มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี

ท่านผู้อ่านเห็นข่าวแล้วรู้สึกทะแม่งๆในข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมบ้างไหม

เส้นทางมอเตอร์เวย์ 2 สาย คือ สายบางปะอิน–สระบุรี–นครราชสีมา ระยะทาง 205.12 กม. วงเงินค่าก่อสร้างและเวนคืนที่ดินรวม 76,600 ล้านบาท และ สายบางใหญ่–กาญจนบุรี ระยะทาง 106.27 กม. วงเงินก่อสร้างทั้งหมด 49,120 ล้านบาท ทั้งสองสายมีกำหนดสร้างเสร็จเปิดให้บริการในปี 2563 เพราะถือเป็นโครงการเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

กระทรวงคมนาคมเสนอให้บอร์ดพีพีพีพิจารณาให้เอกชนร่วมทุน เพื่อคัดเลือกเอกชนให้ได้ภายในปี 2560 และเริ่มงานก่อสร้างระบบจัดเก็บค่าผ่านทางระหว่างปี 2561-2562 เพื่อให้ทันกับการเปิดใช้มอเตอร์เวย์ทั้งสองสายในปี 2563

ค่าก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 2 สาย 125,720 ล้านบาท เดิม ครม.ให้กระทรวงการคลังไปจัดหาแหล่งเงินกู้มาสร้าง แต่ สำนักงบประมาณ เสนอให้ใช้ งบประมาณประจำปี 2559–2563 เพราะรัฐบาลมีเงิน ไม่จำเป็นต้องกู้ให้เสียค่าดอกเบี้ย ครม.ก็เห็นชอบตามนี้

หมายความว่า รัฐบาล โดย กรมทางหลวง ในสังกัด กระทรวงคมนาคม ใช้เงินภาษีของประชาชน 125,720 ล้านบาท ไปลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์สองสายเอง

ในเมื่อรัฐบาลมีเงิน 125,720 ล้านบาทไปลงทุนสร้างมอเตอร์เวย์สองสายได้เอง ทำไมกับเรื่อง “การเก็บค่าผ่านทาง”
และ “การบำรุงรักษาทาง” ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมาก ง่ายกว่าก่อสร้างมอเตอร์เวย์ไม่รู้กี่เท่า กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กลับไม่มีปัญญาเก็บค่าผ่านทางเอง บำรุงรักษาทางเอง ทั้งที่ปกติก็ทำเป็นประจำอยู่แล้ว ต้องเอาไปให้เอกชนสัมปทานเป็นเวลานานถึง 30 ปี แล้วใครเป็นคนกำหนดอัตราค่าผ่านทาง

...

เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเต็มที

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสงสัยบ้างไหม

การเก็บค่าผ่านทาง การบำรุงรักษาทาง ทุกวันนี้ กรมทางหลวงก็ทำเองอยู่แล้ว ทั้งเส้นทาง มอเตอร์เวย์ชลบุรี ถนนวงแหวนตะวันออก ไม่เห็นจะต้องให้บริษัทเอกชนสัมปทานไปนานถึง 30 ปี เดี๋ยวค่าผ่านทางจะแพงลิ่ว ทั้งที่ใช้เงินภาษีของประชาชนสร้าง

ไม่รู้คิดกันได้ยังไง ก็หวังว่าเรื่องนี้คงจะไม่ผ่านบอร์ดพีพีพีในวันนี้การให้เอกชนร่วมทุนแบบพีพีพี ไม่ใช่เอะอะก็ให้เอกชนร่วมทุน แต่ควรให้ร่วมทุนในเรื่องที่ยากและต้องลงทุนเยอะ เช่น การร่วมทุนในโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน มอเตอร์เวย์มีแค่การเก็บค่าผ่านทาง ใช้คนเก็บส่วนหนึ่ง ใช้ช่องอัตโนมัติส่วนหนึ่งไม่มีอะไรยาก ไม่ต้องลงทุนเยอะ การบำรุงรักษาทางก็ไม่มีอะไรซับซ้อน กรมทางหลวงทำอยู่ทุกวันชำนาญอยู่แล้ว เก่งกว่าเอกชนเสียอีก

แต่ การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า ทั้งบนดิน ใต้ดิน ต่างจากมอเตอร์เวย์คนละเรื่อง เอกชนที่ร่วมลงทุนรถไฟฟ้าต้องลงทุนใหม่จำนวนมาก ตั้งแต่ ระบบการเดินรถ ตู้โดยสาร ระบบการเชื่อมต่อ ระบบตั๋วโดยสารร่วม ไปจนถึงการบำรุงรักษาเส้นทางระบบเดินรถ ตู้โดยสาร การให้เอกชนร่วมลงทุนจึงช่วยรัฐประหยัดเงิน ไม่ใช่เสียเงิน

จากกรณี ตัวอย่างมอเตอร์เวย์ ผมคิดว่า บอร์ดพีพีพี น่าจะมีข้อกำหนดให้เป็นมาตรฐาน โครงการแบบไหนที่ควรให้เอกชนร่วมทุน ไม่งั้น โครงการแบบมอเตอร์เวย์สองสาย จะมีเข้าไปให้ปวดหัวอีกเยอะในอนาคต แล้วประชาชนจะเดือดร้อน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”